ทำงานเดิม หรือ เปลี่ยนงานใหม่ ตัดสินใจยังไงให้ถูกต้อง
ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่า “จะทำงานเดิมต่อไปดี” หรือ “จะย้ายไปทำงานใหม่”
เอาแนวทางที่ผมช่วยให้โค้ชชี่ของผมที่กำลังกังวลว่าจะตัดสินใจเลือกพลาด
ให้ได้คำตอบที่ชัดเจน แล้วจบความสับสนที่วนมาเป็นเดือน ใน 1 ชั่วโมงไปใช้กันครับ
เริ่ม….
“ตอนนี้คิดอะไรอยู่บ้าง?” ผมถาม
แล้วโค้ชชี่ก็เล่าให้ผมฟังถึงปัญหาที่เขากำลังเจอในตอนนี้ และความรู้สึกที่ว่างานนี้มันไม่ได้ตอบโจทย์ของเขาอีกต่อไปแล้ว
ผมตั้งใจฟัง แล้วโน้ตเอาไว้ว่าปัญหาที่เขากำลังเจออยู่
ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน วิธีการสื่อสารที่ทำให้ไม่สบายใจ และโอกาสในการเติบโตก็ไม่เป็นอย่างที่เคยคิดเอาไว้
“แล้วทางเลือกใหม่เป็นยังไง? ตั้งใจจะทำอะไร?” ผมถามต่อ
พอโค้ชชี่เล่าถึงงานใหม่อยากที่อยาก ผมก็โน้ตงานใหม่เอาไว้ แล้วถามเขาต่อไปว่า…
“แล้วถ้างานใหม่นี้สำเร็จได้แบบที่ตั้งใจ… ชีวิตจะเป็นยังไง?”
เขานิ่งและคิดอยู่สักพัก
แล้วจึงเล่าถึงเป้าหมายที่เขาอยากเห็น ทั้งเรื่องการได้ผลตอบแทนที่ดี การมีโอกาสเติบโต ได้ทำงานต่างประเทศ ได้ความภาคภูมิใจ
เมื่อเขาได้เห็นเป้าหมายของการทำงานที่ชัดเจนขึ้นแล้ว
ผมจึงชวนเขากลับมาดูว่าทางเลือกทั้ง 2 ทางเลือก ที่เขาคิดในตอนนี้มันเป็นอย่างไรบ้าง?
เริ่มตั้งแต่การมองงานในปัจจุบันนี้ก่อนว่า “มันเป็นงานที่ไม่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้จริงไหม?”
“และถ้าเรารับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ โอกาสที่จะพาให้เราไปถึงเป้าที่ตั้งไว้คือเท่าไหร่?”
หลังจากหยุดคิดสักพัก เขาก็ตอบกลับว่ามา “85%”
“แล้วทางเลือกใหม่ที่คิดเอาไว้ล่ะ ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่คิดเลย คิดว่าจะมีโอกาสพาไปถึงเป้าหมายได้เท่าไหร่?”
เขาหยุดคิดไปสักพัก แล้วก็ตอบว่า “85%”
ถึงตอนนี้ผมสังเกตว่าโค้ชชี่ของผมเริ่มจะคิดอะไรบ้างอย่างได้แล้ว
แต่มันยังไม่สาแก่ใจ ผมจึงพาเจาะลงไปอีกว่า… “อะไรคือที่มาของตัวเลข 85%” ที่เขาพูด
ผมตั้งคำถามเพื่อชวนเขาขุดลงไปต่อว่าในแต่ละทางเลือก
“มีอุปสรรคอะไรบ้าง?”
แล้วชวนให้เขาเห็น “ต้นทุนที่มี ทั้งความรู้และศักยภาพ”
และต่อด้วย “สิ่งที่เขาต้องพัฒนาเพิ่มหากต้องการความสำเร็จที่เขาบอก”
หลังจากได้คลี่ความคิดที่อยู่ในหัวที่วุ่นวายมาเป็นเดือน ๆ ออกมา
เขาก็ตอบตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า… “งานเดิมคือทางเลือกที่ใช่ที่สุด”
เมื่อเขามั่นใจในคำตอบแล้ว ผมก็ชวนให้เขาเสริมความมั่นใจในตัวเองให้เพิ่มขึ้นไปอีก
โดยชวนให้เขาเห็นถึง “อุปสรรคใหญ่ที่ต้องเจอแน่ ๆ หลังจากนี้” และ “วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคเหล่านั้น”
หลังจากคลี่ทุกอย่างออกมาครบแล้ว… “โค้ชชี่ก็ได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดด้วยตัวของเขาเอง”
กระบวนการคิด
ผมสรุปขั้นตอนออกมาเป็นข้อ ๆ ง่าย ๆ หากคุณต้องการเอาแนวทางนี้ไปใช้บ้างนะครับ
1. กลับมาดูว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร คุณมีทางเลือกอะไรบ้าง
2. คิดไปถึงเป้าหมายว่าแต่ละทางเลือก ต้องการพาตัวเองไปสู่ผลลัพธ์อะไร
3. กลับมาทบทวนว่าทางเลือกที่คิดไว้ หากทุกทางเลือกจะสำเร็จได้ด้วยดี มันมีโอกาสพาเราไปสู่เป้าหมายกี่ %
4. ทบทวนว่าแต่ละทางเลือก เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะทำให้มันสำเร็จ (มีอุปสรรคอะไร? มีต้นทุนอะไร? มีอะไรต้องเรียนเพิ่ม? ฯลฯ)
5. เมื่อพิจารณาทางเลือกละเอียดแล้ว ตัดสินใจว่าจะเลือกทางเลือกใด
6. ทำให้มั่นใจในทางเลือกมากขึ้น ด้วยการทบทวนถึงอุปสรรคใหญ่ ๆ และเตรียมวิธีรับมือเอาไว้ล่วงหน้า
จบ!!
เมื่อคุณพิจารณาทางเลือกทั้งหมดอย่างดี โดยไม่ปล่อยให้อารมณ์ชี้นำการตัดสินใจแล้ว
ก็มั่นใจได้ครับว่าคุณจะตัดสินใจครั้งนี้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม 100%
#แนวทางเพิ่มเติม 3 ข้อ
1.
การตัดสินใจถูกต้อง 100% (ตลอดไป) ไม่มีอยู่จริงครับ!!
เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เคยดีในตอนนี้ ผ่านไป 10 ปี อาจจะเป็นแย่สุด ๆ ก็ได้
แต่การตัดสินใจถูกต้อง 100% (ในปัจจุบัน) มีอยู่จริง!
มันคือการตัดสินใจเลือก ด้วยสติ ด้วยทุกสิ่งที่เรามี และตัดสินใจรับผิดชอบว่าเราได้เลือกทางเลือกนี้อย่างดีที่สุด
และใช้ศักยภาพของเราอย่างเต็มที่บนทางเลือกนี้ จนกว่าจะไปเจอ “จุดตัดสินใจใหม่” ในอนาคต
2.
ระหว่างที่พิจารณาถึงทางเลือกต่าง ๆ เราสามารถพิจารณาถึงแนวโน้มในอนาคต เพื่อประเมินโอกาสของแต่ละทางเลือกประกอบได้ด้วยครับ
การมีข้อมูลของเส้นทางการเติบโต หรือข้อมูลที่เป็นแนวโน้มในอนาคตประกอบด้วย จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น
3.
เนื่องจากในการโค้ช นอกจากคำถามเหล่านี้ ผมจะมีการเช็คความเชื่อที่จำกัดต่าง ๆ และคอยเคลียร์ความเชื่อจำกัดนั้นระหว่างทางไปด้วย เพื่อให้คิดและตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างมีสติด้วย
เช่น ถ้าคิดว่าอุปสรรคคือการที่ทีมสื่อสารไม่ดี ไม่เคยส่งเสริมกันเลย ก็ต้องมีการเช็คว่ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ
หรือเขาเป็นคนพูดจาไม่น่าฟัง จนทำให้อารมณ์เราขึ้น เลยทำให้มองไม่เห็นคำแนะนำดี ๆ ที่ซ่อนมากับคำพูดที่ฟังดูไม่น่ารักนั้น
ดังนั้นระหว่างทางที่คุณนำแนวทางนี้ไปใช้พิจารณาทางเลือกของตัวเอง
ผมชวนให้คุณสังเกตความคิดของตัวเองคู่ไปด้วยนะครับ ว่าเราคำตอบของเรา มันไหลไปตามอารมณ์หรือเปล่า
และรับรองเลยว่า หากคุณพิจารณาสิ่งเหล่านี้ ด้วยกำลังสติ และเป็นกลางที่สุด
คุณจะได้คำตอบที่ใช่ และมั่นใจแน่นอนครับ
เป็นกำลังใจ ในการตัดสินใจเลือกครั้งนี้ของคุณนะครับ
เติบโตไปด้วยกัน