เทคนิคพูด เพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ทำไมโปรเจคงานที่ตั้งใจ ถึงยังเติบโตไม่ได้เท่าที่หวัง ทั้ง ๆ ที่เรียนรู้มาก็เยอะ?
ในบทความก่อนหน้านี้ผมได้พูดถึง “4 กฎพื้นฐาน วิถีของการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว” ผ่านการรีวิวหนังสือ The Power of Output เอาไว้
ซึ่งใจความสำคัญ ก็คือ อย่ารับเข้าอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่ไปกับ “การปล่อยของ”
และวันนี้จะมารีวิว 1 ในวิธีการที่จะทำให้เราใช้กฎเพื่อการปล่อยของได้อย่างเห็นผล
โดยเราจะมาปล่อยของกันผ่าน “การพูด”
ในบทความนี้ ผมคัดเอาเทคนิคที่คุณชิออนแบ่งปันและผมชอบมา 3 เรื่อง
ข้อ 1 “พูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน”
การพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ก็ถือเป็น Output ที่ดีอย่างหนึ่ง
ข้อนี้เรียบง่ายมาก ๆ
ก็แค่เราไปเจออะไร เรียนรู้อะไรมา แล้วเราก็พูดถึงเรื่องเหล่านั้น ผ่านมุมมองของตัวเราเอง
บางครั้งเราใช้เวลาอยู่กับ Social มากเกินไป ทำให้การสื่อสารกับคนรอบตัวเริ่มลดน้อยถอยลง ดังนั้นเทคนิคข้อนี้ ก็อาจเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวเลย
นั่นก็คือ “ได้ปล่อยของพัฒนาความรู้” และ “ได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ตัว”
ในหนังสือ แนะนำให้เราพูดคุยถึงเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้มา ผ่านองค์ประกอบ 3 ข้อ ได้แก่
“ข้อเท็จจริง” + “ความรู้สึก” + “ความคิดเห็น”
ลองเอาโปรเจคงานของคุณ หรือสิ่งที่เรียนรู้เพื่อโปรเจคนั้น มาบอกเล่าให้คนใกล้ตัวฟังดูสิครับ
(แต่ถ้าไม่กล้าพูดกับคนอื่นหรือไม่มั่นใจ ลองพูดให้ตัวเองฟังคนเดียวก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะครับ)
ข้อ 2 “พูดในแง่บวก”
“เพียงแค่ใส่คำพูดในแง่บวกลงไป ก็ทำให้เรามีความสุขแล้ว”
เคยสังเกตไหมครับว่า… เรามักจะพูดเรื่องแบบไหนเป็นประจำ?
เรื่องการเติบโต เรื่องโอกาส เรื่องดี ๆ
หรือ เรื่องนินทา เรื่องปัญหา เรื่องแย่ ๆ
แน่นอนว่าชีวิตมันไม่ได้บวกและสวยงามตลอด แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีเรื่องที่เลวร้ายจริงไหมครับ
ผมชอบที่คุณชิออน ยกผลงานวิจัยด้านจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อแสดงถึงอัตราส่วนของการใช้คำพูด “แง่บวก” และ “แง่ลบ”
โดยเปรียบเทียบ อัตราส่วนของคำพูดแง่บวก ต่อ แง่ลบ ดังนี้
3:1 ขึ้นไป (บวก 3 ต่อ ลบ 1) จะทำให้ทีมทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
6:1 (บวก 6 ต่อ ลบ 1) จะทำให้ทีมทำงานร่วมกันได้ดีอีกมาก
5:1 (บวก 5 ต่อ ลบ 1) จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นไปได้ด้วยดี
มาลองสำรวจชีวิตของเรากันนะครับว่า อัตราส่วนของเราคือเท่าไหร่?
ลองพูดถึงการเติบโต สิ่งดี ๆ ความคืบหน้าในโปรเจคของคุณ ให้มากกว่าปัญหาและอุปสรรคดูสิครับ คุณอาจจะมีพลังในการทำมันมากขึ้นก็ได้
ข้อ 3 “พูดปฏิเสธ”
เราต้องพูดปฏิเสธ เพื่อให้เราได้ทำ “สิ่งที่อยากทำจริง ๆ” ก่อน
การปฏิเสธ อาจไม่ใช่การพูด ที่ให้เราสามารถ “ปล่อยของ” ได้โดยตรง
แต่การปฏิเสธ จะทำให้เรามีเวลาในการปล่อยของมากขึ้น
เพียงเพราะ “พูดปฏิเสธไม่ได้”
เราจึงต้องแลกเวลานอน เวลาพักผ่อน เวลาเพื่อใกล้ชิดกับคนรัก เวลาเพื่อคิดโปรเจคธุรกิจใหม่ และเวลาในการทำทุกสิ่งที่ดีต่อร่างกายและจิตใจของเรา
ถ้าอยาก “ปล่อยของ” และ “พัฒนา” ได้รวดเร็วขึ้น ขอให้เพิ่มความกล้าที่จะพูดปฏิเสธบ้างครับ
ในมุมมองของผม
แน่นอนว่าบางเรื่องมันก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับ
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราปฏิเสธได้อยู่เช่นกัน
ฝึกพูดปฏิเสธให้มากขึ้น แล้วเอาเวลามาทำโปรเจคสำคัญของคุณดีกว่าครับ
แถมข้อ 4 “ตั้งคำถามกำหนดทิศทาง”
สำหรับผมหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีเรื่องแปลกใหม่จนทำให้ร้องว๊าวแต่อย่างใด
หนังสือเล่มนี้มีแต่เรื่องราวที่เรียบง่าย ซึ่งถูกวางเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ ค่อย ๆ ทำทีละเรื่อง ไม่ได้หวือหวา
แต่องค์ประกอบหนึ่ง ที่ช่วยให้ผมสร้าง Output ได้มากกว่าที่ผมคาดคิด
ก็คือเคล็ดลับข้อหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ นั่นก็คือ…
“การตั้งคำถามเพื่อกำหนดทิศทางการเรียนรู้”
ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็มีโจทย์ในใจอยู่แล้วว่า “ผมอยากปล่อยของมากขึ้น”
และมีคำถามว่า “ผมจะได้เรียนรู้วิธีการปล่อยของจากหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไร?”
ในมุมมองของผม เทคนิคข้อนี้คือ “การพูดกับตัวเองว่าจะเอาอะไรกันแน่”
เมื่อมีการกำหนดความตั้งใจเอาไว้พร้อม ผสมผสานกับการทำสิ่งที่เรียบง่ายอย่างเป็นระบบ ผลลัพธ์จึงเกิดขึ้นมาได้
ประสบการณ์นี้ยังมาช่วยอธิบายว่า ทำไมสิ่งเรียบง่ายที่ถูกจัดวางอย่างเป็นระบบในคอร์ส Self-Leadership ถึงสร้างผลลัพธ์ให้คนที่ตั้งใจฝึกเป็นผู้นำตนเองที่ยอดเยี่ยมได้เช่นกัน
ก่อนจะเรียนรู้อะไร ลองตั้งคำถามเพื่อกำหนดทิศทางว่าคุณต้องการอะไรกันแน่จากการเรียนรู้สิ่งนี้ก่อนสิครับ
แล้วคุณอาจจะพบว่า “โปรเจคคุณจะก้าวหน้าได้เยอะมาก ทั้งที่ไม่ต้องเรียนรู้อะไรที่ยากและซับซ้อนเลย”
ทำอะไรต่อ
อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปบอกต่อให้กับคนใกล้ตัวดูนะครับ
“นี่เป็นการเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ทำให้คุณก้าวสู่เส้นทางของการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว”
และถ้าหากคุณต้องการ “สอนสมองเพื่อช่วยให้คุณสร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้นใน 21 วัน”
คอร์ส Self-Leadership อาจช่วยคุณได้ ดูรายละเอียดที่นี่ได้ครับ > คอร์ส Self-Leadership
ติดตามผมผ่านช่องทางอื่นที่:
Facebook > Kitti Trirat
YouTube > Kitti Trirat
Podcast > Kitti Trirat
** หากต้องการรับแจ้งเตือนบทความใหม่ทาง email สามารถกรอกอีเมล์ในช่องลงทะเบียนด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ
Resource:
หนังสือ The Power of Output > “ศิลปะของการปล่อยของ”
Photo by Product School on Unsplash