เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างไร ด้วย OKRs - Kitti Trirat

เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างไร ด้วย OKRs

หลัง ๆ มานี้ ผมเห็นคำว่า OKRs ผ่านขึ้นมาทาง Feed Facebook อยู่เป็นประจำ

เพราะมีพี่ ๆ เพื่อน ๆ หลายท่าน ที่ทำงานในองค์กรหรือเป็นนักธุรกิจที่ต้องบริหารทีมงาน

แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเกี่ยวข้องกับชีวิตผมสักเท่าไหร่

เพราะผมทำงานกับตัวเองเป็นหลัก และตอนที่มีทีมงานก็เป็นเพียงทีมเล็ก ๆ ไม่น่าจะต้องมีการวัดผลซับซ้อนอะไร ทำไปก็เครียดเปล่า ๆ

แต่ได้ฟังเรื่อง “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างไร ด้วย OKRs” ผมก็รู้ว่า “ผมคิดผิด”

เรื่องของเรื่องคือ ผมมีโอกาสร่วมสอนเกี่ยวกับ “การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน” ในโครงการ Live Training กับทาง Learning Hub Thailand

เป็นโครงการที่ช่วยให้ พนง. และบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตในช่วง Covid-19 และต้องเปลี่ยนมาทำงานแบบ Work From Home ได้มา Reskill & Upskill กัน

ซึ่งหนึ่งในผู้แบ่งปัน ที่ทาง Learning Hub Thailand ได้เชิญ คุณพีท ชวรณ ธีระกุลชัย – Business Transformation Coach มาแบ่งปันในหัวข้อ “เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างไร ด้วย OKRs”

และเมื่อผมได้ฟังคุณพีทเล่าเรื่อง OKRs ไม่นาน ผมและผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 90 คน ก็รู้สึกว่า…

“เฮ้ย OKRs ไม่เหมือนที่เคยคิดว่าเข้าใจมาก่อนเลย”

จาก 7 Habits ถึง OKRs

คุณพีทเปิดบทเรียนด้วยประสบการณ์การเริ่มธุรกิจและการเริ่มมีเป้าหมายชีวิต จากแรงบันดาลใจของหนังสือ “7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง” หรือ 7 Habits

หนังสือเล่มนี้สอนให้คุณพีทเริ่มตั้งเป้าหมายชีวิต

การตั้งเป้าหมายแบบ 7 Habits จะต้องเป็นเป้าหมายระยะยาว ประมาณ 30 – 40 ปี

ซึ่งการตั้งเป้านี้ช่วยให้คุณพีทเริ่มทำธุรกิจ และเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่ถึงจุดหนึ่ง คุณพีทเริ่มรู้สึกว่าการตั้งเป้าหมายในระยะไกลนี้ เริ่มจะไม่ได้ผลและรู้สึกว่าชีวิตเริ่มมีปัญหา จึงเริ่มมองหาวิธีการใหม่ ๆ

และนั่นทำให้คุณพีทได้รู้จักกับ OKR จากการศึกษาเรื่องการทำงานของ Google

ผมจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้

แต่คุณพีทได้นำเสนอเรื่อง OKR ในแง่มุมของ “การตั้งเป้าหมาย”

และการตั้งเป้าหมายแบบ OKR นี้ จะเป็นการตั้งเป้าหมายที่กำหนดระยะเวลาสั้น ๆ แค่ประมาณ 3 เดือน

เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้นการมองอะไรไกล ๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่เวิร์คสำหรับตอนนี้

ตั้งเป้าแบบ OKRs

โดยสรุป คุณพีทให้แกนหลักของการตั้งเป้าหมายแบบ OKRs เอาไว้ 3 ข้อดังนี้

1. O คือ Objective

แปลแบบตรงตัว Objective คือ “วัตถุประสงค์”

ซึ่งคำว่าวัตถุประสงค์เฉย ๆ มันก็ยังดูไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันจะแปลออกมายังไง

คุณพีทจึงทำให้เป็นภาษาบ้าน ๆ ว่า “การตั้งเป้าหมาย” หรือ “ภาพฝัน”

และเป้าหมายหรือความฝันนี้ จะต้องเป็น “เป้าหมายที่เร้าใจ”

เป้านี้ไม่ได้สนใจเรื่องความชัดเจน ไม่ต้องกังวลว่าวัดผลได้ไหม

แต่ขอให้มันเป็นเป้า ที่ทำให้เรารู้สึก “ตื่นเต้นตื่นตัว” อยากจะลุกขึ้นมาจากเตียงเพื่อทำมัน

เน้นความรู้สึกของตัวผู้ตั้ง หรือทีมผู้ตั้งเป็นสำคัญ

ถ้าเป็นส่วนบุคคล – คนที่ตั้งต้องตื่นเต้นกับเป้าหมายนี้ คนอื่นจะคิดยังไงก็ช่าง

ถ้าเป็นส่วนของทีม – ทั้งทีมจะต้องรู้สึกตื่นเต้นกับเป้าหมายนี้ร่วมกัน ไม่ใช่แค่หัวหน้าคนเดียว

คุณพีทยกตัวอย่าง “O” หรือ “เป้าหมาย” ของตัวเองว่า

“สร้าง Avenger Team: Work from Home Edition เพื่อรอรับโลกหลังยุค Covid”

เร้าใจดีไหมครับ ^_^

2. KRs คือ Key Results

แปลตรงตัว Key Results คือ “ผลลัพธ์หลัก”

คุณพีทแปลแบบบ้าน ๆ ว่า

“สิ่งที่จะช่วยบอกคุณว่าคุณได้ไปถึงเป้าหมายแล้ว” หรือ “ตัวชี้วัด”

ในการทำ KRs นี้ คุณพีทแนะนำว่า มีประมาณสัก 3 – 5 ข้อก็พอ

ที่สำคัญต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในเวลา 3 เดือน

KRs นี้จะต้องออกมาเป็นรูปธรรมจับต้องได้

โดยตัวอย่างของคุณพีทคือ…

KR1 = ประสิทธิภาพการทำงานแบบ WFH มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ของแบบเข้า Office

KR2 = จำนวน ของทีมเพิ่มขึ้น 4 คน (1คน/ตำแหน่ง x 4 ตำแหน่ง)

สำหรับข้อนี้ ในช่วงท้ายมีคนถามว่า แล้วถ้าสำหรับสิ่งที่เป็นนามธรรมล่ะ

เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า มันจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร?

ตรงนี้คุณพีทตอบว่า ให้วัดเป็นการให้คะแนนก็ได้

เช่น “ลูกค้าให้คะแนนความพึงพอใจในระดับ 8 คะแนน”

3. Follow-Up

Follow Up แปลตรง ๆ เลยคือ “การติดตามผล”

ข้อนี้คือการที่เราเฝ้าติดตามผลว่าสิ่งที่กำลังลงมือทำอยู่นั้น ตอบโจทย์ KRs ที่ตั้งเอาไว้ ขนาดไหนแล้ว

และการ Follow Up หรือ ติดตามผลนี้ คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้มันสำเร็จจริง

การติดตามว่ามันเป็นอย่างไร ทำไปถึงไหน มีความเติบโตอย่างไร อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณพีทบอกว่าการติดตามนี้ มี 2 แนวทาง คือ

แนวทางแบบ Google คือการต้องมาแปลงผลการติดตามให้อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น หาก Key Results คือหาคนได้ 4 คน แต่ตอนนี้ทำได้ 2 ก็จะต้องเอามาแปลงเป็นตัวเลข 0.5 ก่อน เพื่อรายงานผล

ส่วนอีกแนวทางคือ ทำแบบบ้าน ๆ ก็แค่ระบุว่า Key Results คือการหาคนได้ 4 คน และตอนนี้ทำไปแล้ว 2 คน แค่นั้นจบ

(ผมเลือกทำแบบบ้าน ๆ ครับไม่ปวดหัวดี)

แผนภาพสรุปเรื่อง OKRs 

เป้าแบบ OKRs ของผม

ที่น่าสนุกก็คือ ผมได้ทำแบบฝึกหัดควบคู่ไปด้วยระหว่างที่คุณพีทสอน

ในช่วงสั้น ๆ ผมก็ได้ OKRs ในแบบฉบับของผมออกมาดังนี้

Objective

“มีกลุ่มของผู้นำตนเองด้วยปัญญา เป็นรากฐานสำหรับการสร้างชุมชนการพัฒนาตนเองจากภายใน”

Key Results

– มีสมาชิกแกนนำโปรแกรม Self-Growth Inner Circle เริ่มต้น 10 คน

คอร์ส Self-Leadership มีคนสมัครเต็ม 40 คน

– ทำให้ผู้เรียนมีทักษะในนำตัวเองได้ดีขึ้น และมีความพึงพอใจกับการเติบโตของตัวเอง ในคะแนน 8 เต็ม 10

Follow Up

– การติดตามผลจากจำนวนผู้สมัคร

– การทำแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจ

แค่เขียนออกมาก็รู้สึกสนุกแล้ว ทำให้คิดต่อได้ง่ายว่าต้องทำอะไรต่อ และมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้างที่ต้องจัดหามาเพิ่ม

การแบ่งปันของคุณพีท ทำให้ OKRs กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัวผมมากขึ้น เหมือนกับที่เพื่อน ๆ ที่เข้าร่วมคลาสนี้อีก 90 คน ก็รู้สึกคล้าย ๆ เดียวกัน

ผู้เข้าร่วม Live Training ที่ทำงานในองค์กรที่เคยรู้เรื่อง OKRs มาก่อน แต่เคยทำมาแล้วและก็รู้สึกเครียดกับการทำมากก็บอกว่า

“พอเอา OKRs มาใช้กับตัวเองได้แบบนี้มันทำให้รู้สึกเข้าใจง่าย และเห็นความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ต่อในองค์กรง่ายขึ้นจริง ๆ”

ตั้งเป้าของคุณด้วย OKRs

ลองเอาบทเรียนเรื่อง OKRs จากบทความนี้ ไปใช้เพื่อตั้งเป้าหมายของตัวเองดูนะครับ

กำหนดภาพฝันที่คุณต้องการจะให้เกิดขึ้นในช่วงระยะ 3 เดือนต่อจากนี้

สร้างตัวชี้วัดขึ้นมาอย่างน้อย 3 ข้อ และติดตามผลการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง

ผมขอยืมคำที่คุณพีท กล่าวปิดท้าย Live Training มาส่งท้ายบทความนี้แล้วกันครับ

“ถ้าอยากให้เค้าเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ให้สั่งเค้า

ถ้าอยากให้เค้าเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ให้มอบเป้าหมาย

แต่ถ้าอยากให้เขาเปลี่ยนจากดินสู่ดาว ให้มอบโอกาสให้เค้าได้ตั้งเป้าหมายด้วยตัวเอง”

 

ติดตามผมผ่านช่องทางอื่นที่:
Facebook > Kitti Trirat
YouTube > Kitti Trirat
Podcast > Kitti Trirat

** หากต้องการรับแจ้งเตือนบทความใหม่ทาง email สามารถกรอกอีเมล์ในช่องลงทะเบียนด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ 

Resource:
สนใจเรียนสด ๆ กับ Learning Hub Thailand ในห้องเรียนออนไลน์ คลิกสมัครที่นี่ครับ https://bit.ly/LT-Register
Photo by You X Ventures on Unsplash

Kitti Trirat

Kitti Key Changer ถ้าคุณรู้สึกติดอยู่ในวังวนที่ทำให้คุณยังไปไม่ถึงชีวิตที่ต้องการสักที ให้ผมได้แบ่งปันกุญแจสำคัญที่จะช่วยปลดล็อค และทำให้คุณได้เป็นอิสระ ทั้งในชีวิต และทางความคิดนะครับ

>