สถานการณ์แบบนี้ ควรคิดบวกหรือคิดลบ?
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้
เราควรจะมองโลกในแง่ดีและคิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น หรือควรมองโลกในแง่ร้ายเพื่อเตรียมหาทางป้องกัน?
ผมขอยกเอา “ความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก” มาชวนคุณคิดถึงประเด็นนี้ ดีกว่า
ผมได้ศึกษาเรื่อง “จิตวิทยาเชิงบวก” ในคอร์ส Mastering Positive Psychology สอนโดย Dr. Hugo Albert ซึ่งเป็นทั้งนักจิตวิทยา นักวิจัย และเจ้าของธุรกิจ
Dr. Hugo เล่าว่า
ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จิตวิทยา ก็เป็นวิชาที่พูดถึงในบทบาทของ “การเยียวยา”
จิตวิทยายุคนั้น จะมุ่งศึกษาว่า “มนุษย์มีความผิดพลาดอะไร?”
พวกเขาจะได้ “ซ่อมแซม” ความผิดปกติของมนุษย์ได้
แต่จิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นจิตวิทยายุคใหม่ กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป
จิตวิทยาเชิงบวกจะโฟกัสไปที่ “อะไรคือสิ่งที่ดีของมนุษย์?”
พวกเขามุ่งเน้นที่การ “เสริมสร้าง” สิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้น มองหาจุดแข็งมาขยาย
Dr Martin Seligman ซึ่งถือเป็น บิดาของจิตวิทยาเชิงบวก ได้กล่าวว่า
“จิตวิทยาเชิงบวก เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานที่ดีที่สุดของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและส่งเสริมปัจจัยที่ทำให้บุคคลและชุมชนเจริญเติบโต”
บวกหรือลบ ดีกว่ากัน?
ทั้ง 2 ขั้วนี้ ดูจะมีความต่างและขัดแย้งกันอยู่พอสมควร
แต่พอผมได้ฟังบรรยายของ Dr. Hugo ผมก็ได้รับคำตอบของปัญหา 2 ประเด็น ที่คาใจว่า…
เราต้อง “กำจัดความคิดลบและคิดบวกอย่างเดียว” ใช่ไหม?
ผมจับใจความจาก Dr. Hugo ได้ว่า…
จิตวิทยาเชิงบวกยุคใหม่ ไม่ได้สอนให้คิดบวกแบบสุดโต่งโลกสวย และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกให้เรากำจัดความคิดลบทิ้งไปให้หมด หรือไม่ควรมีความคิดลบเกิดขึ้นเลย
แต่เขาสอนให้เรามองโลกตามความเป็นจริง เพื่อที่จะ “รับรู้” และหยิบเอาศักยภาพและสิ่งที่มีมา “รับมือ” กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
เราต้อง “เสริมแต่จุดแข็งและไม่มองจุดอ่อน” ใช่ไหม?
คล้าย ๆ กับเรื่องคิดบวกคิดลบ
แม้จิตวิทยาเชิงบวกจะบอกให้เราโฟกัสไปที่จุดแข็งและเสริมสร้างมันให้ดีขึ้น
แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าให้มองข้ามจุดอ่อนของตัวเองไปซะทีเดียว
เพราะการมองแต่จุดแข็งมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความมั่นใจแบบผิดเพี้ยน และอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไปได้
จิตวิทยาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี
Dr. Hugo Albert บอกว่า เขาไม่อยากใช้คำว่าจิตวิทยาเชิงบวกด้วยซ้ำ เพราะจิตวิทยาคือจิตวิทยา ไม่ใช่ว่าเชิงบวกหรือเชิงลบ แบบไหนมันจะดีกว่ากัน
แต่เขาชอบคำว่า “จิตวิทยาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี” มากกว่า!
พอเป็นแบบนี้ผมคิดว่า “จิตวิทยาเชิงบวก” คือ
“ศาสตร์ของการมองโลกตามความเป็นจริง และมุ่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น”
แม้จะชื่อว่าจิตวิทยาเชิงบวก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบวกดีกว่าลบหรือแข็งดีกว่าอ่อน
ท้ายที่สุด การที่เราสามารถรับรู้และเข้าใจความคิดทั้ง 2 ด้าน ความสามารถทั้ง 2 ขั้ว
และมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านสายตาที่มองโลกตามความเป็นจริงต่างหากที่สำคัญ
ควรคิดบวก หรือคิดลบ?
เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้
สิ่งที่จะพาให้เราผ่านพ้นไป อาจไม่ใช่การมองในแง่ลบ หรือแม้แต่การมองในแง่บวก
แต่มันคือการกลับมามองโลกตามความเป็นจริง!
อะไรที่ดีที่เป็นจุดแข็ง ก็พัฒนาให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ไม่หลงระเริงจนเกินไป
อะไรที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญ ๆ ก็ต้องวางแผนอุรูรั่ว โดยไม่วิตกกังวลจนเกินจริง
นี่ต่างหาก ที่จะทำให้เราเติบโต และมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
ติดตามผมผ่านช่องทางอื่นได้:
Facebook > Kitti Trirat
YouTube > Kitti Trirat
Podcast > Kitti Trirat
** หากต้องการรับแจ้งเตือนบทความใหม่ทาง email สามารถกรอกอีเมล์ในช่องลงทะเบียนด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ
Resource:
https://www.pursuit-of-happiness.org/history-of-happiness/martin-seligman-psychology/
https://www.youtube.com/watch?v=1qJvS8v0TTI
Photo by Anthony Tran on Unsplash