ทำไมต้องตั้งเป้าแบบ OKRs - Kitti Trirat

ทำไมต้องตั้งเป้าแบบ OKRs

ทำไมการตั้งเป้าแบบ OKRs ถึงทำให้ผมสร้างผลลัพธ์ได้มากกว่าการตั้งเป้าหมายแบบเดิม

ในปี 2563 ที่ผ่านมา เป้าหมายและแผนที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี ก็ล้มไปตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังจากการเข้ามาของ Covid-19 

ทั้งเป้าหมายการวิ่งที่จะซ้อมวิ่ง การไปเที่ยว และจำนวนครั้งของการจัดงานฝึกอบรม สถานการณ์ทำให้ผมต้องทำอะไรใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากแผนที่วางเอาไว้ ต้องเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น 

ยิ่งมาถึงวันนี้ ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า “สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ความไม่แน่นอน”

การตั้งเป้าหมายและการวางแผนแบบยาว ๆ ทั้งปีไปเลย จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์จริงในชีวิตสักเท่าไหร่ 

ปีที่ผ่านมาผมได้ฟังออนไลน์เทรนนิ่งของผู้ประกอบการท่านหนึ่งมาแบ่งปันเรื่องการตั้งเป้าหมายด้วย OKRs 

OKRs คือการตั้งเป้าหมายในระยะ 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่ไม่ยาวนานจนคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย และก็ไม่สั้นจนไม่มีเวลาทำอะไรให้เป็นจริง

พอได้นำมาปรับใช้ มันก็ช่วยได้ผมมีผลลัพธ์จากการทำงานมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก

หนังสือที่คิดมานาน ก็มีต้นฉบับออกมาส่งให้ตรวจรอบแรกแล้ว

งานโค้ชชิ่งส่วนตัว และงานจัดกระบวนการเรียนรู้ ก็เริ่มมีคนสอบถามเข้ามาเรื่อย ๆ 

ผมได้ทำรายการ OK 2 Talk, จัดวงสนทนาเพื่อการเติบโต เพื่อแบ่งปันประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากเรื่องงานแล้ว มันผมยังมีเวลาสำหรับออกกำลังกาย มีเวลาอยู่กับตัวเองทบทวนบทเรียนจากประสบการณ์ มีเวลาสำหรับนอนดู Netflix และเล่มเกมสามก๊กและไฟนอลแฟนตาซีที่ชอบด้วย

การทำฝึกตั้งเป้าแบบ OKRs ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้ผมได้ฝึกทักษะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่…

1. ลื่นไหลดุจสายน้ำ

Photo by Amadej Tauses on Unsplash

การตั้งเป้าแบบ OKRs จะมองไปข้างหน้าเพียง 3 เดือน ซึ่งจะปรับมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้เร็ว 

ระหว่างทางผมจะมีการทำแผนและการติดตามรายเดือน รายสัปดาห์ เพื่อติดตามผลและปรับแผนใหม่

ต่างจากในอดีตที่จะต้องวางแผนยาว ๆ รู้ว่าต้องทำอะไรไปเป็นขั้น ๆ จนครบทั้งปี ซึ่งพอเจอความเปลี่ยนแปลงฉับพลัน แผนนั้นก็ต้องล้มไปเลยเพราะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ แล้ว

ดังนั้นการฝึกตั้งเป้าหมายแบบ OKRs ทำให้ผมพร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ดุจสายน้ำ

2. เท้าแตะพื้น

การตั้งเป้าที่ไม่ไกลเกินไป และหมั่นทบทวนอยู่เสมอ ทำให้ไม่ล่องลอยไปกับความฝันที่ยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นจริงได้หรือไม่

ด้วยระยะเวลาที่สั้น มันกระตุ้นให้ต้องทำแผนการที่ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือนจะต้องทำอะไรเพื่อไปถึงเป้าที่ต้องการ

และในการทำ OKRs จะมีส่วนประกอบที่สำคัญ ที่ผมเรียกว่า “การสร้างเครื่องมือติดตามผล”

พอตั้งเป้าแล้วเราจะต้องมากำหนดก่อน ว่าระหว่างทางไปสู่เป้าหมายนั้น มันมีวิธีการอะไรที่ต้องทำ มันมีตัวชี้วัดอะไรบ้าง 

หากเราทำสิ่งนั้นแล้ว เราจะรู้ได้ว่ากำลังไม่หลงทิศหลงทางจากเป้าหมาย

เช่น เป้าหมายหนึ่งของผมคือ “การทำหนังสือ” 

เครื่องมือติดตามผลที่ผมเลือก คือ “จำนวนหน้า” “การจัดเวลาสำหรับเขียน”

เป้าหมายอีกอย่างของผมคือ “การทำโปรแกรม Finish 2020 ให้ Peak”

เครื่องมือติดตามผลที่ผมเลือก คือ “การร่วมทำกิจกรรมของผู้เรียน” “อุปกรณ์ประกอบการสอนที่ดี” “จำนวนผู้เข้าร่วมเรียนช่วง Live” “การสื่อสารถึงกติกาชัดเจน” 

การที่ผมรู้ว่าจะต้องติดตามผลจากอะไรบ้าง ทำให้ผมปรับและออกแบบกิจกรรมจนมีผู้เรียนกว่า 80% ที่เข้าเรียนสด ทำกิจกรรมทุกกิจกรรม และมีผลลัพธ์จริง เช่น ทำ ebook เสร็จ (หลังจากที่ตั้งใจมากเป็นปี), ทำเอกสารงานวิจัย, ทำรายงาน, น้ำหนักลดลง สุขภาพดีขึ้น ฯลฯ

3. ตัด ฉับ ฉับ!

Photo by Markus Winkler on Unsplash

Photo by Markus Winkler on Unsplash

เนื่องจาก OKRs เป็นเป้าหมายในระยะเพียง 3 เดือน ดังนั้นผมจึงไม่สามารถใส่ทุกอย่างลงไปได้ 

มันทำให้ผมต้องเลือกว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ สำหรับผมใน 3 เดือนนี้ อะไรคือสิ่งที่หากเลือกทำแล้ว มันจะตอบโจทย์ชีวิตที่ผมต้องการจริง ๆ กันแน่

อารมณ์ตอนที่ตั้งเป้าหมายและหันมามองปฏิทินซึ่งมีตารางเวลาจำกัด 

แม้จะบีบหัวใจหน่อย แต่มันก็ทำให้ผมประหยัดเงินและเวลาไปเยอะ

เพราะมันบีบให้ผมต้องสร้างหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าผมควรต้องทำอะไรบ้างขึ้นมา 

ผมสร้างหลักเกณฑ์ของตัวเองในการพิจารณา 3 เรื่องดังนี้

1) เรื่องที่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน

2) เรื่องที่ทำเพื่อให้อนาคตดีขึ้นจริง

3) เรื่องที่ทำให้ผมมีความสุขระหว่างทาง

สำหรับเกณฑ์เรื่องการตอบโจทย์ปัจจุบัน

ทำให้ผมตัดสิ่งที่คิดว่าน่าจะดีในอนาคตออกไปเยอะมาก 

ผมเก็บหนังสือที่น่าสนใจ (แต่ไม่ได้ทำตอนนี้แน่ ๆ) ลงกล่อง หยุดซื้อหนังสือใหม่ ถ้าจะซื้อก็เลือกซื้อเฉพาะเล่มที่อ่านแล้วจะได้นำมาใช้จริงเท่านั้น 

เล่มไหนที่มันล่อตาล่อใจจริง ๆ ก็กด Search หาใน Google อ่านรีวิว หรือไปเปิดร้านหนังสือ ไปหยิบไปจับ เปิดอ่านผ่าน ๆ และถ่ายรูปปกหนังสือเพื่อบำบัดความอยากแทน 

อัตราการซื้อหนังสือใหม่ที่ไม่ได้อ่านจึงลดลงอย่างชัดเจน

เกณฑ์เรื่องการทำเพื่อให้อนาคตดีขึ้นจริง 

ทำให้ผมชลอการหาโอกาสใหม่ ๆ และลงมือทำสิ่งที่สร้างอนาคตมากขึ้น

ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือให้เสร็จมานาน แต่ความเป็นคนยืดหยุ่นและเปิดรับโอกาส “มากเกินไป” มันทำให้ผมไม่สามารถจบเล่มได้สักที

ยิ่งพอได้เห็นตัวอย่างใหม่ ๆ ได้ฟังไอเดียดี ๆ ก็ยิ่งต่อยอดจนฟุ้ง หาบทสรุปไม่ได้

แต่พอระยะสั้นลง มันก็กระตุ้นให้ตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น และการได้ทบทวนชีวิตและวางแผนใหม่แต่ละสัปดาห์ ทำให้ผมจัดเวลาสำหรับกิจกรรมนี้ลงไปแบบชัดเจน

พอมีตารางเวลาที่ชัดเจนขึ้น ช่องว่างของเวลาที่จะเอาไปทำอย่างอื่นมันก็หายไปเองโดยไม่ต้องบังคับ! 

สุดท้ายเกณฑ์เรื่องความสุขระหว่างทาง 

ทำให้ผมเลือกให้เวลากับการทำกิจกรรมที่ผมอยากทำ แม้จะขัดกับครูอาจารย์หลายท่านที่สอนว่า

“ต้องใช้เวลาเพื่อสิ่งที่มีประโยชน์และพัฒนาตัวเองเท่านั้น”

ตอนที่อินมาก ๆ ผมก็เชื่อแบบนั้นนะ แต่เมื่อตั้งสติดี ๆ และหันกลับไปมองคนรอบตัว

ผมเห็นพี่ชายที่เคารพ ซึ่งทำงานด้านการตลาดออนไลน์ เขาเล่นเกมหลายเกมที่คนสำเร็จหลายคนบอกว่าอย่าเล่น เช่น ROV, กับตันซึบาซะ ฯลฯ 

เห็นโค้ชการเงินที่ผมนับถือคนนึง แม้งานของเขาจะยิ่งใหญ่ระดับเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เขาก็เลือกจัดเวลา (หรือไม่จัดก็ไม่รู้) สำหรับการดู Series Netflix, เล่นบอร์ดเกม, ไปเที่ยวกับครอบครัว

เห็นน้องชาย นักธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ เจ้าของกลุ่มที่แบ่งปันให้ความรู้แก่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลักหมื่นคน นี่ก็เล่นทั้งเกม ดู Series ไม่แพ้กัน

ความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยความสุขระหว่างทางก็เป็นแนวทางที่ดีนะ แต่มันแค่อาจไม่สอดคล้องกับชีวิตของผมสักเท่าไหร่ 

ผมเลือกเชื่อว่าการไปถึงความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องทิ้งความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจดูไร้สาระเหล่านี้ไป แต่เราปรับเพิ่มหรือลดตามความเหมาะสมได้

ถ้าช่วงนี้เน้นงานมาก ก็ลดเวลาความสนุกลงมาหน่อย ถ้าช่วงนี้งานเริ่มเบา ก็เพิ่มเวลาความสนุกให้มากขึ้นอีก

ทำไมทำ OKRs แล้วถึงได้ฝึกทักษะเหล่านี้?

  1. OKRs มีระยะที่ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป
  2. Objective หรือ วัตถุประสงค์ เป็นการทบทวนถึงความต้องการที่แท้จริงที่ทำให้เราตื่นเต้น ก่อนที่จะเขียนเป้าหมายในส่วนของ Key Results
  3. มีการระบุ Key Results หรือผลลัพธ์สำคัญออกมาอย่างชัดเจน ทำให้วัดผลได้ง่าย
  4. มีการออกแบบเครื่องมือในการติดตามผลด้วย
  5. มีการติดตามและทบทวน เป็นรายเดือน รายสัปดาห์ ทำให้มีการพัฒนาแผนได้รวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
  6. เปลี่ยนเป้าบางอย่างระหว่างทางได้ ตราบใดที่มันยังตอบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอยู่

OKRs ไม่ใช่ “วิธีการ” แต่เป็น “กระบวนการ”

ผมมองว่า OKRs ไม่ได้เป็นแค่รูปแบบการเขียนเป้าหมายอีกรูปแบบหนึ่ง 

แต่มันคือทั้งกระบวนการเริ่มตั้งแต่การพิจารณาหาวัตถุประสงค์ การเขียนผลลัพธ์สำคัญ การกำหนดการติดตามผล จนมาถึงการติดตามผลและพัฒนาแผนการในแต่ละสัปดาห์

ด้วยแนวคิดนี้ ผมจึงมองว่า OKRs คือ “กระบวนการสำหรับการฝึกตน” ที่ยอดเยี่ยม

แม้จะไม่ได้ใช้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน OKRs 

แต่มันก็ทำให้ผมก็ได้ฝึกการตัดสินใจ, ความยืดหยุ่น, การติดตามผล, การตัดสิ่งที่ไม่สำคัญ, การวางแผน, ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะติดตัวไปด้วย

ผมจึงค่อนข้างชอบกระบวนการตั้งเป้าแบบ OKRs เป็นพิเศษ

หากคุณอ่านแล้ว อยากลองนำหลัก OKRs ไปใช้ตั้งเป้าหมายของตัวเองบ้าง ลองอ่านบทความที่ผมเคยเขียนเรื่อง “การตั้งเป้าหมายด้วย OKRs” ได้นะครับ

Photo by Estée Janssens on Unsplash
Photo by Amadej Tauses on Unsplash
Photo by Markus Winkler on Unsplash

>