ขี้เกียจจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า (กรณีศึกษา)
## ขี้เกียจจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า (กรณีศึกษา) ##
ถ้าคุณอยากทำอะไรบางสิ่งที่มีคุณค่า แต่ก็รู้สึกว่า มันไม่มีเรี่ยวแรงที่จะออกไปทำเลย ลองฟังกรณีศึกษานี้ครับ มันอาจจะเหมือนคุณก็ได้
วันนี้ผมจะเล่าแบ่งปัน สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกรณีศึกษาให้กับพวกเรา จากการที่ผมได้ทำ (Process) พาใจกลับบ้าน หรือ Inner Transformational Systemic Process
ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนเข้าไปเปลี่ยนแปลง ระบบความคิด ระบบความเชื่อ (ภายใน) ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น
กรณีศึกษานี้เกิดจากคน ๆ หนึ่ง ได้มาคุยกับผม ด้วยความรู้สึกว่า เขาเองรู้สึก ไม่อยากทำอะไรเลย เบื่อหน่าย เซ็งชีวิต แต่พอเขาไม่ได้ทำอะไร
มันก็มีความคิดผุดขึ้นมาว่า จริง ๆ ตัวเองก็เป็นคนเก่ง มีศักยภาพ เคยทำอะไรได้ดีหลาย ๆ อย่าง แล้วพอไม่ได้ทำ ไม่ได้ใช้ศักยภาพตัวเอง ก็พาลคิดว่าตัวเอง…
“เป็นคนไม่มีคุณค่า”
คิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรที่มีคุณค่า ตัวเขาเองอาจจะทำงาน หาเงินได้ แต่ก็รู้สึก แค่ทำงาน แค่มีเงิน มันไม่ได้ตอบโจทย์ หรือเติมเต็มคุณค่าอะไรในชีวิต
หนักกว่านั้น เขาคิดว่าตัวเอง เป็นคนเห็นแก่ตัว และไม่มีค่าเลย ถ้าเราแบกอารมณ์แบบนี้เอาไว้ มันก็เป็นอันตรายต่อความคิดของเรา ต่อพฤติกรรมของเรา
เรามาทำงานร่วมกัน เข้ามาพูดคุยกัน แล้วก็ไปเจอสาเหตุหนึ่งครับว่า สิ่งที่ทำให้เขา ไม่อยากทำอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ และไม่ได้เริ่มทำอะไรสักที สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกก็คือ… “ความกลัว”
ความกลัวทำอะไรเขา?
เขาไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และเราได้เจอว่าจริง ๆ แล้ว มันเกิดจากการที่ “เขาไม่ไว้ใจคนอื่นด้วย” มันมีความเชื่อบางอย่าง ที่เขาถูกถ่ายทอด ถูกปลูกฝังมาจากประสบการณ์ในอดีต
มันทำให้เขาคิดและมีความเชื่อว่า เขาไม่สามารถพูดเปิดใจ พูดความจริงกับใครได้ ไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเอง อย่างแท้จริงกับใครได้ และผู้คน ก็จะไม่สนับสนุน หรือส่งเสริมเขา หากรู้ว่าเขา ไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นต้องการ
เรียกง่าย ๆ คือ ถ้าเขาทำผิด เขาจะไม่ได้รับการสนับสนุน เขาจะถูกทำโทษอย่างรุนแรง เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มันก็อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ได้ นั่นคือสิ่งที่เขา มีความเชื่อแบบนั้นแฝงอยู่
มันจึงทำให้เขาเกิดความคิดข้างใน ตามมาอีกว่า… ดังนั้น เขาก็จะปรึกษาหรือพูดอะไรกับใครไม่ได้ ไม่สามารถจะเปิดใจได้ ไม่สามารถสื่อสารได้ ไม่สามารถที่จะพูดตรง ๆ กับคนอื่นได้
ถ้าไม่สามารถพูดตรง ๆ ได้ แล้วมันเกิดปัญหาอะไร?
มันทำให้เขาไม่สามารถทำงานกับผู้คนได้ มันทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน มันทำให้เกิดประสบการณ์ หลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ดีตามมา
แต่เขาก็จะเป็นคนที่ รับฟัง พอรับฟัง เขาจะเป็นคนที่เก็บความลับได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
ถ้าเกิดมีใครสักคนไว้ใจเขา มาเล่า “ความลับ” อะไรบางอย่างให้เขาฟัง เขาก็จะเก็บ Keep Secret ทั้งหมดทั้งมวลไว้เลย
พอเราทำความเข้าใจในระดับหนึ่งแล้วว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราก็ไปทำงานร่วมกันอีกที แล้วก็หาว่า เรารู้แล้วว่าอะไรเกิดขึ้น…
เป้าหมายล่ะ ต้องการอะไร?
เขาบอกว่า จริง ๆ เขาอยากมีพลังในการใช้ชีวิตมากขึ้น อยากทำสิ่งต่าง ๆ อยากทำสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้นในชีวิต ไม่อยากปล่อยให้ตัวเอง อยู่ในสภาวะแบบนี้
หลังจากนั้น ผมก็พาเขาเข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า “พาใจกลับบ้าน”
ซึ่งในการทำกระบวนการนี้ เราก็ได้พบว่า มีเด็กน้อยอยู่คนหนึ่ง เป็นเด็กในอดีต ซึ่งเป็นเด็กที่เขาเองก็ไม่ยอมรับ แล้วก็ทิ้งเด็กคนนี้ไว้ในห้องมืด ๆ เด็กคนนี้ก็ถูกด่า ถูกตำหนิ ถูกต่อว่าตลอดเวลา
คุณนึกถึงสภาพ…
เด็กน้อยคนหนึ่ง ที่ถูกไล่ออกไปข้างนอก ไม่ให้เข้ามาอยู่ในบ้าน ไม่ให้เข้ามาอยู่ในความคิด ไม่ให้เข้ามาอยู่ในใจ เด็กคนนี้ก็รู้สึกเศร้ามาก เราก็เลยหาทาง แล้วเราจะทำยังไงดี
เป้าหมายของผม ผมต้องการให้เขา พาเด็กคนนั้น กลับเข้ามาอยู่ในบ้านอีกครั้ง กลับเข้ามาที่บ้านของใจอีกครั้ง เพราะเด็กคนนั้น ก็คือ ส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา ที่เขาปฏิเสธมาตลอดชีวิต
ผมถามเขาว่า แล้วเขาอยากทำยังไงต่อ?
ตอนแรก เขาเลือกที่จะใช้วิธีการดุ ต่อว่าเด็กคนนี้ เพื่อให้เด็กคนนี้ สำนึกผิด เพื่อจะได้กลับเข้ามา เขาพูดว่า…
“เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ จะไปกลัวทำไม จะไปกลัวปัญหาทำไม!”
แต่พอเขาเลือกที่จะทำแบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันทำให้ความสัมพันธ์ของเขา กับเด็กในตัวเขา มันไม่ดีขึ้น เด็กคนนั้น ยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่
ยิ่งปิดตัวเอง ยิ่งเงียบเข้าไปใหญ่ และไม่พูดอะไรเลย พอเห็นแล้วว่า การทำแบบนั้นมันไม่เวิร์ค ผมก็ลองชวนเขาดูใหม่อีกครั้ง
สาเหตุที่เขาตำหนิแบบนั้น เพราะเขารู้สึกว่า เขาไม่พอใจ กับสิ่งที่มันเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เขาเป็นในตอนนี้ เขาโทษว่า มันเกิดมาจากเด็กคนนี้ที่มีความกลัวอยู่…
– ความกลัว ที่จะไม่เชื่อใจคน
– ความกลัว ที่จะพูดกับคนอื่นไม่ได้
– ความกลัว ที่จะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง
แล้วถ้าปรับมุมมองใหม่ล่ะ?
เมื่อวิธีแรกมันไม่ได้ผล ดังนั้นผมจึงชวนเขา เข้าไปมองใหม่ว่า “ความกลัว” แท้จริงแล้วมัน ส่งผลอะไรดี ๆ เกิดขึ้นบ้าง
ในปัจจุบันที่เขามีคุณลักษณะดี ๆ หลายสิ่งหลายอย่าง มันมีอะไรที่ถูกสร้างขึ้น เพราะเคยมี “ความกลัว” ไหม?
เขาก็ลองค้นหาดู ใช้เวลาสักพัก แล้วเขาก็เจอ
จริง ๆ แล้วการที่เขามีความรู้สึกกลัวอะไรบางอย่าง มันทำให้เขา…
“เข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้เขาสามารถรับฟังปัญหาของใครก็ได้ โดยที่เขาไม่ตัดสินเลย พอเขารับฟัง เขามีความ เห็นอกเห็นใจคนเหล่านั้นด้วย”
เขาได้ทบทวนความคิดของตัวเอง เขามีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะมาก ทำให้เขามีความคิดที่เฉียบคมมากยิ่งขึ้น พอเขามองเห็นข้อดี หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ที่เกิดขึ้น
มันจึงทำให้เขา มีมุมมองกับเด็กคนนี้ ต่างออกไป พอผมเริ่มเห็นแล้วว่า เขามีมุมมองที่เริ่มต่างออกไป สิ่งที่ทำคือ ผมพาเขา กลับไปคุยกับเด็กคนนั้นอีกครั้ง
คราวนี้ ผมถามเขาว่า… เขาอยากทำยังไงกับเด็กคนนั้น?
ครั้งนี้ สิ่งที่น่าแปลกคือ จากตอนแรกที่เขาบอกว่า เขาอยากตำหนิอยากต่อว่า เด็กคนนี้ ที่ไม่ยอมออกมาเผยตัวให้เห็น เขากลับรู้สึกว่า เขาอยากขอบคุณเด็กคนนั้น ที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมา และมีคุณลักษณะดี ๆ
เขาอยากขอโทษ และท้ายสุด เขาได้โอบกอดเด็กคนนั้น ผมให้เวลาเขา อยู่กับประสบการณ์ตรงนั้น อยู่กับเด็กคนนั้น อยู่กับตัวตนของเขา ที่อยู่ข้างใน ที่มันถูกซ้อน ถูกกดเอาไว้
และโลกทั้งใบก็เปลี่ยนไป
ในขณะนั้นเอง เขาเล่าให้ผมฟังว่า…
จากห้องที่มืดมิด จากเด็กที่ถูกกีดกัน ถูกกดเอาไว้ ห้องนั้นมันสว่างขึ้น จากเด็กที่ดู เครียด ๆ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าสบตา อาย กลายเป็นเด็กที่…
+ กล้า ที่จะยิ้มแย้ม
+ กล้า มองตาเขามากขึ้น
+ กล้า ที่จะสนิทสนมคุ้นเคย
+ กล้า ที่จะพูดกับเขามากขึ้น
ผมก็ทำให้เขา มีประสบการณ์ ในการที่คุ้นเคยกับเด็กคนนั้นมากยิ่งขึ้น จนในที่สุด เขาก็ได้เป็น “เพื่อนกัน” และที่น่าประหลาดใจ หลังจากที่เขาได้เป็นเพื่อนกับตัวเอง ก็คือ…
เขายอมรับเด็กคนนั้น ซึ่งเด็กคนนั้น คือ ส่วนหนึ่งของชีวิตของเขาในอดีต
เมื่อเขาได้ยอมรับจุดนั้น เขาได้เห็น ได้ทำความเข้าใจใหม่แล้วว่า นั่นคือ ส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เขาได้พาส่วนนั้น กลับเข้ามาที่บ้านของเขา หรือ บ้านของใจ
ตัวเขาเองก็ได้กลับมาอยู่ที่บ้านของใจด้วย มันเกิดสภาวะความสบาย ความโล่ง ความเบายิ่งขึ้น ห้องที่เคยมืด ก็สว่างมากยิ่งขึ้น เขาสามารถใช้ศักยภาพ ใช้สิ่งต่าง ๆ ในขีวิต ได้มากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้น เขากลับมาฟีดแบ็ค แล้วบอกว่า เขาสังเกตและเห็นตัวเองเร็วขึ้น จากที่เมื่อก่อน เวลามีอะไรมากระทบ เขาจะหนี เพราะไม่อยากรับรู้ถึงความรู้สึก ไม่อยากที่จะต้องมารู้สึกแย่กับตัวเอง
เขาเปลี่ยนจากการ “หนี” เป็น “จับความรู้สึกตัวเองทัน”
พอจับความรู้สึกตัวเองทัน เขาสามารถเลือกที่จะตอบสนองได้ดีมากยิ่งขึ้น กล้าที่จะสื่อสารความรู้สึกของตัวเองมากยิ่งขึ้น กล้าที่จะตัดสินใจลงมือทำทันที
ลองทำอะไรใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น สนุกกับชีวิตตัวเองมากยิ่งขึ้น ได้ใช้ศักยภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น
มันเกิดขึ้นจากการที่เขา “เปิดรับ” และ “ทำความเข้าใจใหม่” กับสิ่งที่มันอยู่ลึก ๆ ในตัวเขา และสามารถพาทุกส่วนของชีวิต กลับมาอยู่ที่บ้านของใจของเขาได้
ความขี้เกียจ ในนิยามที่ต่างออกไป
สำหรับผมจริง ๆ แล้วความขี้เกียจของเขา มันไม่ได้เกิดจากการที่ ไม่อยากทำอะไร หรือเป็นคนขี้เกียจ ในแบบที่เรามักจะเข้าใจกันคือ…
“ก็มันขี้เกียจ ก็แค่ลงมือทำสิ!”
แต่จริง ๆ แล้วความขี้เกียจตรงนี้มันเป็นผลพวง มาจาก “ความเชื่อ” ที่เขาคิดว่า เขาไว้ใจใครไม่ได้ ก็พาลไม่ทำงานกับใครซะเลย
อยู่กับคนที่สนิท ๆ ไม่กี่คน แล้วคนที่สนิท ๆ ไม่กี่คน ก็อาจจะไม่ได้สร้างงานที่เขารู้สึกว่า มันมีคุณค่า หรือมีความหมายในความเชื่อของเขา
การที่เขาไม่เห็นคุณค่าตัวเอง เพราะเขามีความเชื่อว่า เขาจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็น เพราะเขายังมีความเชื่อว่า คนอื่นจะทำร้าย และก็ไม่เข้าใจเขาอยู่ มันมี 2 ความเชื่อที่มันขัดแย้งกัน
1. ความเชื่อที่เขาไม่อยากยอมรับ
2. ความเชื่อที่เขาเติบโตมาและพัฒนาความเชื่อนี้ขึ้นมา
เมื่อมี 2 ความเชื่อที่มันตีกัน มันไปด้วยกันไม่ได้ มันก็เกิดความ “กลัว” ขึ้นมา
แต่พอวันนี้ผมพาเขา และเขาพาตัวเอง ไปทำความรู้จักกันและกัน มันเลยเกิดการสอดคล้องกัน มันไปด้วยกันได้
ดังนั้น เมื่อเขาค้นพบว่า ไม่ใช่คนอื่นที่มาทำให้เขาไม่มีคุณค่า ไม่ใช่คนอื่นที่ทำร้ายเขา แต่มันคือ ตัวเขาเอง ที่เขาไม่ยอมรับตัวเอง และยังไม่ไว้ใจตัวเอง
เช่นกัน วันนี้มันไม่มีใครเลยที่ทำร้ายคุณ ไม่มีใครเลยที่ทำให้คุณค่าในชีวิตคุณตกต่ำลงไป ถ้าคุณรู้สึกแบบนั้นว่า มีคนทำร้าย หรือมีคนทำให้ชีวิตคุณ ไม่มีคุณค่า
นั่นเป็นเพราะ “ตัวคุณเอง” ที่คุณไม่ยอมรับ บางสิ่งบางอย่างในตัวเอง คุณไม่ไว้ใจตัวเอง ให้เปิดรับ ทำความรู้จัก และเข้าใจในจุดนั้น
จากตัวอย่างกรณีศึกษานี้ เป็นเรื่องของการ พาใจกลับบ้าน ทำให้เขากลับมาเป็นเพื่อนกับตัวเอง และผมขอเชิญชวนให้คุณ กลับมาเป็นเพื่อนกับตัวเอง กลับมาเป็นเพื่อนกับทุกสิ่ง ทุกเหตุการณ์ ทุกประสบการณ์ แล้วคุณจะพบว่า…
“ทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้ว มันกำลังฟูมฟัก และสร้างคุณลักษณะดี ๆ ต่าง ๆ ให้คุณมากมาย”
#เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง #Reconnect #พาใจกลับบ้าน
#กิตติ กระบวนกรผู้ส่งมอบแสงสว่างทางปัญญา
Photo by Hutomo Abrianto on Unsplash