คิดได้คมขึ้นแน่ แค่เปลี่ยนมาใช้เทคนิคนี้ - Kitti Trirat

คิดได้คมขึ้นแน่ แค่เปลี่ยนมาใช้เทคนิคนี้

# เปลี่ยน 1 เรื่องนี้ แล้วคุณจะคิดได้เฉียบคมขึ้น #

เคยไหมที่พยายามคิดอะไรบางอย่าง แล้วก็คิดไม่ออก หาทางออกไม่ได้

มันสับสนและรู้สึกวุ่นวายไปหมด ข้อมูลตีกันปั่นปวน ชวนให้อยากเลิกคิดไปเลยดีกว่า

สิ่งที่ทำให้คิดหาทางออกจากปัญหาหรือจากความท้าทายก็คือ…

การไม่สามารถตั้งโจทย์ “ที่กระตุ้นให้สมองทำงานเพื่อหาทางออกได้”

เหมือนจะชัด แต่ไม่ชัด

เมื่อพูดถึงความต้องการหรือทางออกของปัญหา

คนส่วนใหญ่มักจะคิดแต่ความคาดหวังกว้าง ๆ ที่ไม่ชัดเจน

เช่น “อยากไอเดียดี ๆ ในการเริ่มธุรกิจ”

คำว่า “ไอเดียดี ๆ” ก็เหมือนจะดี เพราะเป็นการตั้งคำถามเพื่อโฟกัสเพื่อไปข้างหน้า

แต่ “ไอเดียดี ๆ” ที่ว่านี้ มันต้องเป็นไอเดียยังไง ไอเดียในเรื่องอะไรล่ะ ถึงจะเรียกว่าดี?

พอมันไม่มีอะไรชัดเจน สมองก็ไม่รู้จะคิดอะไรต่อ มันคิดหาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มต้นจากอะไร เพราะมันกว้างเกินไป

สมองจะคิดได้ดีขึ้นเมื่อ…

หนังสือ “คิดไม่ต้องเค้น” พูดถึงปัจจัยข้อแรก ที่จะทำให้สมองสร้างสรรค์ไอเดียได้อย่างไหลลื่น

นั่นก็คือ “การจดจ่อ”

การจดจ่อ คือสิ่งที่จะช่วยให้เราตั้งต้นให้ดี มีประเด็นในการคิดที่ชัดเจน

และยังช่วยกำหนดทิศทางให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ชัดเจนจริงหรือเปล่า?

วิธีการที่จะช่วยให้เราจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดี ก็คือ…

“การตั้งโจทย์ที่ชัดเจน”

นักประดิษฐ์ชื่อชาร์ลส์ เอฟ. เคตเทอริง กล่าวว่า “การตั้งโจทย์ที่ชัดเจน ก็เท่ากับแก้ปัญหาไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

แทนที่จะเริ่มคิดว่า “อยากได้ไอเดียดี ๆ ในการเริ่มธุรกิจ”

เราจะเห็นว่าการตั้งโจทย์นี้เหมือนจะชัดเจน

แต่มันยังชัดเจนไม่พอ เพราะมันสมองไม่รู้ว่าจะต้องคิดเรื่องอะไรในการเริ่มธุรกิจกันแน่

ช่วยสมองให้คิดคมขึ้น

เพื่อที่จะตั้งโจทย์ ให้สมองเราจดจ่อได้ดีขึ้น

เราต้องเปลี่ยนวิธีการตั้งโจทย์เป็น “ประโยคคำถามที่ระบุถึงความต้องการหรือเป้าหมายที่ชัดเจน”

ถ้าเราตั้งโจทย์ เพื่อให้สมองรู้อย่างชัดเจนขึ้นว่า

ไอเดียดี ๆ ที่ว่านั้นมันตอบโจทย์อะไร หรือธุรกิจที่เราคิดมันคือธุรกิจแบบไหน

สมองก็จะจดจ่อกับการคิดและผลิตไอเดียดี ๆ ได้มากขึ้น

ลองดูตัวอย่างเหล่านี้นะครับ

“ธุรกิจใหม่ของฉันจะต้องเป็นอย่างไร จึงจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของฉันได้?”

“มีอะไรบ้างที่จะทำให้ฉันเริ่มธุรกิจใหม่ได้ใน 1 เดือนต่อจากนี้?”

“ด้วยต้นทุนที่ฉันมีอยู่ ฉันจะเริ่มต้นทำธุรกิจได้อย่างไร? มีโอกาสอะไรบ้าง?”

“มีใครที่จะให้คำแนะนำในการเริ่มธุรกิจได้บ้าง?”

“สิ่งที่ฉันทำได้ในวันนี้เพื่อจะเริ่มต้นธุรกิจ A คืออะไรบ้าง?”

“จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา ฉันจะนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ A ได้อย่างไร?”

คุณลองย้อนกลับไปดูโจทย์ที่เหมือนจะชัดเจน ซึ่งตั้งมาก่อนหน้านี้เพื่อเปรียบเทียบดูสิ

โจทย์แบบไหนที่อ่านแล้ว กระตุ้นความคิดได้ง่ายกว่ากัน?

โจทย์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

มีเทคนิคง่าย ๆ ที่ผมสอนในคอร์ส Self-Leadership ก็คือ

ให้ตั้งโจทย์ ให้อยู่ในรูปของประโยคคำถาม ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายบางอย่างที่ชัดเจน เพราะจะทำให้สมองของเราจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้ดียิ่งขึ้น

ทำให้สมองรู้ว่า เรากำลัง “คิดอะไร” และ “เพื่ออะไร”

ยิ่งระบุได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ สมองก็จะทุ่มพลังเพื่อจดจ่อได้มากขึ้นเท่านั้น

การที่คุณยังติดอยู่กับปัญหาต่าง ๆ และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือเริ่มต้นอะไรได้สักที

อาจไม่ใช่เพราะคุณยังรู้ไม่พอ คุณยังไม่เก่งหรอก

แต่มันอาจจะเป็นเพราะคุณแค่ยังตั้งโจทย์ตั้งประเด็น ที่จะช่วยให้คุณเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างไม่ได้เท่านั้นเอง

ฝึกตั้งโจทย์ให้ชีวิตง่ายขึ้น

ลองหยิบโจทย์ที่คุณกำลังคิดอยู่ในตอนนี้ขึ้นมา แล้วฝึกกำหนดประเด็นและตั้งโจทย์ที่ช่วยให้สมองของคุณจดจ่อกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งดูสิครับ

คุณอาจจะพบว่า…

ทางออกมันอยู่ใกล้แค่ปลายจมูกนี้เอง

สมองคุณมีศักยภาพมาก และก็พร้อมที่จะส่งทรัพยากรทุกอย่างมาให้คุณ

คุณแค่ต้องบอกสมองอย่างชัดเจนว่า “คุณต้องการอะไรกันแน่”

 

ติดตามผมผ่านช่องทางอื่นได้
Facebook > Kitti Trirat
YouTube > Kitti Trirat
Podcast > Kitti Trirat

** หากต้องการรับแจ้งเตือนบทความใหม่ทาง email สามารถกรอกอีเมล์ในช่องลงทะเบียนด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ 

Resource:
Photo by Robina Weermeijer on Unsplash

>