วิถีของการพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว
คุณคิดว่าคนที่อ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม กับอ่านเดือนละ 10 เล่ม ใครมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จได้มากกว่ากัน?
ผมพึ่งได้อ่านหนังสือ The Power of Output: ศิลปะของการปล่อยของ Chapter 1 จบ
จึงอยากมา “ปล่อยของ” ตามที่หนังสือเล่มนี้แนะนำทันที!
ปลายปีที่ผ่านมา
ผมตื่นมาในตอนเช้า พร้อมกับความคิดว่า “วันนี้ฉันจะต้องไปเรียนอีกแล้วเหรอ?”
ทั้ง ๆ ที่ผมเป็นคนรักการเรียนรู้มาก และการเรียนรู้ทุกครั้งผมก็จะได้เนื้อหาดี ๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ทุกอย่างดีหมดเลย
และในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกว่ากำลังใช้เวลาไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เยอะเกินไป!!
แต่“ผมไม่ได้เอาความรู้เหล่านั้น มาฝึกฝนหรือมาใช้จริงสักเท่าไหร่”
ปีนี้ผมจึงตั้งใจที่จะเอาความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ออกมานำเสนอมากขึ้น
แล้วผมก็เปิดไปเจอโฆษณาหนังสือ The Power of OUTPUT เด้งขึ้นมาบน Facebook
ศิลปะของการปล่อยของ
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานของจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อคุณชิออน คาบาซาวะ
ความน่าอัศจรรย์ใจก็คือ…
เขาเขียน E-Magazine ส่งทุกวันมา 13 ปี,
มีผลงานหนังสือปีละ 2 – 3 เล่ม มาอย่างต่อเนื่อง 10 ปี,
เขาสร้าง Content ใน Facebook ทุกวันต่อเนื่อง 8 ปี
และอัพ YouTube ทุกวันต่อเนื่อง 5 ปี!
อ่านแล้วคิดว่าเขาคงไม่ได้หลับได้นอนแน่ ๆ คงทำงานหามรุ่งหามค่ำ นอนน้อย ๆ ตามวิถี Productive ที่เคยเข้าใจมา
แต่เขาบอกว่า…
เขานอนไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงทุกวัน ไม่ทำงานหลัง 6 โมงเย็น
ดูหนังเดือนละ 10 เรื่อง อ่านหนังสือ 20 เล่ม เข้าฟิตเนส สัปดาห์ละ 4 – 5 ครั้ง
ไปดื่มสังสรรค์เดือนละ 10 ครั้ง เที่ยวต่างประเทศปีละ 30 วันขึ้นไป
เรียกได้ว่า… มีเวลาเที่ยวเล่นมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า!
อ่านแล้วรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจที่จะสร้าง Output มาก!
หนังสือเล่มนี้พูดถึงการปรับสมดุลของ Input และ Output ผ่านการฝึกปล่อยของผ่านการพูด การเขียน การลงมือทำ
ความรู้ไม่มีพลังอีกต่อไป
ผมว่ายุคที่บอกว่า “ความรู้” คือพลังมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ยุคนี้ต้องเป็น “ความรู้ที่ถูกนำมาใช้จริง” ต่างหากที่จะเป็นพลังและทำให้เราเติบโต
กฎพื้นฐาน
คุณชิออน ได้พูดถึงกฎพื้นฐานของการ “ปล่อยของ” เอาไว้ 4 ข้อ คือ
1 ข้อมูลที่นำมาใช้ 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ จะกลายเป็นความจำระยะยาว
คุณชิออนเคยทำการทดลอง โดยถามคน 30 คนที่เคยอ่านหนังสือ “กล้าที่จะถูกเกลียด” ว่า “ทฤษฎีจิตวิทยาของแอดเลอร์เป็นทฤษฎีแบบไหน?”
เขาพบว่ามีคนตอบถูกเพียง 3 คน เท่านั้น คนส่วนใหญ่ที่เหลือ “เข้าใจไปว่าตัวเองรู้แล้ว”
การได้อ่านหรือได้ฟัง ได้สร้าง “ความพึงพอใจ” แต่กลับไม่ได้สร้าง “การพัฒนา” ให้ชีวิต
หากอ่านแล้วต้องการจำได้และพัฒนาด้วย ก็ต้องเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ผ่านการ “พูด” “เขียน” ให้มากขึ้น
2 วงจรของการแสดงผลและการป้อนข้อมูลคือ “บันไดวนแห่งการพัฒนา”
ถึงอย่างไร จะ “ปล่อยของ” ได้ ก็ต้องมีการ “นำเข้า” ก่อน
ตรงนี้ผมเข้าใจว่า หากเรานำเข้าอย่างเดียวมาก ๆ ก็เหมือนการวิ่งวนไปวนมาและท้ายที่สุดก็กลับมาอยู่ตรงจุดเดิม ที่เพิ่มเติมคือตะกอนของข้อมูลที่เราแบกเอาไว้เต็มไปหมด
ส่วนคนที่นำเข้า และก็ปล่อยของควบคู่ไปด้วย เขาจะพัฒนาและเติบโตขึ้น
ลองนึกถึงภาพบันไดวน ที่กำลังพาเราให้ก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้นสิครับ มันเป็นภาพแบบนั้นเลย
3 อัตราส่วนที่ดีที่สุดของการ Input และ Output คือ 3:7
ข้อนี้คุณชิออนบอกให้ใช้เวลาทำแบบฝึกหัดให้มากกว่าการอ่านตำราเรียน
จากตัวเลขนี้ก็ เปรียบได้ว่าหากมีเวลา 10 นาที ก็ใช้ 3 นาทีเพื่ออ่าน และอีก 7 นาที เพื่อลงมือทำ
4 พิจารณาผลของ Output แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในครั้งต่อไป
คือไม่ใช่สักแต่จะปล่อยของ แบบไม่ลืมหูลืมตา
ปล่อยของแล้วก็ต้องเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย รับ Feedback เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
นี่คือกฎพื้นฐาน 4 ข้อ ในการ “ปล่อยของ” ของคุณชิออน
มาปล่อยของกันเถอะ
ผมย้อนกลับไปทบทวนชีวิตตัวเองที่ผ่านมา แล้วก็รู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก
เพราะความกังวลว่าจะรู้ไม่ทัน
จึงทำให้ผมติดอยู่กับการหาความรู้ พยายามเสพข่าวสาร เรียนรู้หลายสิ่งอย่างเต็มไปหมดจนไม่มีเวลาได้พักหายใจ
ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกพอใจที่ได้เรียน และรู้สึก “เหมือนกับว่า” ชีวิตกำลังพัฒนา (ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่)
แต่เทียบกับตอนที่สร้างผลงานออกมาบ่อย ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการทำ Podcast เขียนบทความ หรือแม้แต่การออกไปวิ่งและใช้เวลาทบทวนตัวเอง
ช่วงนั้นกลับเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้และได้เห็นพัฒนามากที่สุดอย่างแท้จริง
ใครมีโอกาสมากกว่า?
ย้อนกลับไปที่คำถามตอนเปิดบทความ
“คุณคิดว่าคนที่อ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่ม กับอ่านเดือนละ 10 เล่ม ใครมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จได้มากกว่ากัน?”
คำตอบก็คือ…
“คนที่อ่านแล้วเอาสิ่งที่อ่านมาทำเยอะกว่าครับ”
ใครที่เรียนรู้และยังติดกับดักของการพยายามต้องรู้และเสพข้อมูลทุกอย่าง และรู้แล้วว่ามันไม่ทำให้คุณพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการสักที
ลองเปลี่ยนจากการ “เติมของ” เป็นการ “ปล่อยของ” ดูบ้างสิครับ
สนใจหนังสือ กดที่นี่เลยครับ > “ศิลปะของการปล่อยของ”
ดีตังเลยคะ ที่ได้มาอ่านบทความตอนตื่นขึ้นมา
ขอบคุณมากครับ
[…] […]