เข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น ด้วยศาสตร์สัตว์ 4 ทิศ
ผมเป็นคนที่ชอบทำแบบทดสอบบุคลิกภาพมาก และเคยทำแบบทดสอบมาหลายตัว
ไม่ว่าจะเป็น MBTI, DISC, Wealth Dynamic, Talent Dynamic, VIA Character, Strengths Finder
หลังจากที่ทำแบบทดสอบเหล่านี้แล้ว เขาก็จะมีเอกสารรายงานสรุปกลับมาให้เรา
ในเอกสารก็บอกเราว่าเราเก่งเรื่องอะไร มีจุดอ่อนเรื่องอะไร ควรทำงานอะไร อะไรที่เหมาะ หรือไม่เหมาะกับเรา
แต่บทความนี้ จะไม่ได้พูดถึงแบบทดสอบที่กล่าวมาข้างต้นเลยครับ
เพราะสิ่งที่จะเล่าต่อจากนี้ คือ ศาสตร์ที่เรียกว่า
“สัตว์ 4 ทิศ 4 ธาตุ”
ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมได้เรียนเรื่องนี้เพิ่มเติมกับครูหยิก อาจารย์สอนกระบวนกรของศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งทำให้ผมได้ตระหนักถึงการทำความเข้าใจศาสตร์นี้อย่างลึกซึ้ง
สัตว์ 4 ทิศ
มาจากภูมิปัญญาชนเผ่าโบราณ เพื่อที่จะเข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยมีสัตว์ที่เป็นตัวแทนของแต่ละทิศดังนี้
ทิศเหนือ แทนด้วย กระทิง
ทิศตะวันออก แทนด้วย อินทรี/เหยี่ยว
ทิศใต้ แทนด้วย หนู
ทิศตะวันตก แทนด้วย หมี
ศาสตร์สัตว์ 4 ทิศนี้ มีเรื่องเล่ามาจาก 2 แหล่งด้วยกัน
- จากชนเผ่าอินเดียแดง
- จากสก๊อตแลนด์
ความต่างก็คือ
จากทางอินเดียแดงจะเรียกว่า “อินทรี”
ส่วนจากสก๊อตแลนด์เรียกว่า “เหยี่ยว”
และเมื่อมีการนำมาใช้ในฝั่งโลกตะวันตก ก็มีการผสมผสานเรื่องธาตุทั้ง 4 ลงไป จึงเรียกได้ว่า “สัตว์ 4 ทิศ 4 ธาตุ”
ทิศเหนือ กระทิง ธาตุไฟ
ลองนึกถึงวัวกระทิงนะครับ ถ้าได้ล๊อคเป้าเมื่อไหร่ ก็วิ่งเข้าใส่เต็มที่ ลุยไปแบบตรง ๆ ใส่พลังทั้งหมดที่มี
ดังนั้นเมื่อสังเกตจากภายนอกแล้ว คนทิศนี้ก็จะเป็นคนพร้อมลุย คิดเร็วทำเร็ว เชื่อมั่นในตัวเอง ใจร้อน กล้าทำ กล้าเป็นผู้นำ มุ่งเป้าหมาย เมื่อตัดสินใจจะทำอะไรแล้วละก็ จะทุ่มเทพลังทั้งหมดเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น
คนทิศกระทิงจะมีความยุติธรรม บุกตะลุย ตรงไปตรงมา มีเป้าหมาย มุ่งมั่น ตั้งใจ กล้าได้กล้าเสีย เป็นนักปลุกใจ ชัดเจน ลงมือทำ คิดเร็วทำเร็ว รักพวกพ้อง ใจร้อน มั่นใจในตนเอง มีพลัง ปกป้อง อ่อนไหวง่าย กล้าเผชิญหน้า
ทิศตะวันออก อินทรี ธาตุลม
ลองจินตนาการว่าคุณเป็นอินทรี คุณจะบินอยู่บนฟ้าที่กว้างใหญ่ มีอิสระในการโบยบิน มองเห็นโลกใบนี้แบบกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
เมื่อสังเกตจากภายนอก คนทิศนี้ก็จะดูเป็นคนรักอิสระ สนใจเรื่องใหม่ ๆ ตลอด รักความสนุกสนาน มองการณ์ไกล มองภาพรวมได้ดี ไม่ค่อยมองที่รายละเอียด และชีวิตมีทางเลือกมากมาย ทุกอย่างเป็นไปได้
คนทิศอินทรีจะเป็นคนมองการณ์ไกล มองภาพรวม มีจินตนาการ คิดสร้างสรรค์ มองโลกในแง่บวก ร่าเริง/สนุกสนาน รักอิสระ เจ้าโครงการ เบื่อง่าย เปลี่ยนเร็ว มีทางเลือก คิดนอกกรอบ สนใจสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่ลงรายละเอียด แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นนักวางกลยุทธ์
ทิศใต้ หนู ธาตุน้ำ
หนูก็จะอาศัยกันเป็นกลุ่ม ทำตัวเล็ก ๆ คอยหลบซ่อนตามมุมต่าง ๆ กับพวกของมัน ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็นเท่าไหร่ หากไม่จำเป็น
เมื่อสังเกตจากภายนอก คนทิศนี้ก็จะดูเป็นคนชอบเข้าสังคม ขี้เกรงใจ รักสันติ ใส่ใจความรู้สึกคน ยืดหยุ่น เป็นมิตร อยู่ง่าย ๆ สบาย ๆ มนุษย์สัมพันธ์ดี
คนทิศหนูเป็นคนแคร์ความรู้สึก มนุษย์สัมพันธ์ดี ขี้เกรงใจ ไม่ปฏิเสธ ชอบขันอาสา(จิตอาสา) แบ่งปัน ช่วยเหลือดูแล มีน้ำใจ เก็บกด ยืดหยุ่น ประณีประนอม ไม่กล้านำ แต่ชอบมีส่วนร่วม รักสันติ ปรับตัวง่าย ไม่บอกความต้องการของตัวเอง
ทิศตะวันตก หมี ธาตุดิน
หมีจะใช้ชีวิตอยู่ในอาณาเขต ของตนเอง มีพื้นที่ของตนเองชัดเจน ต้องสะสมน้ำผึ้ง เพื่อเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับช่วงฤดูจำศีล
เมื่อสังเกตภายนอก คนทิศนี้จะดูเป็นคนชอบวิเคราะห์ข้อมูล ต้องการข้อมูลมาก ๆ เป็นคนที่มีการเตรียมตัวดี มีเหตุมีผล ใส่ใจรายละเอียด จะทำอะไรก็มีการตรวจสอบก่อน และมักจะไม่ค่อยให้ใครเข้ามาวุ่นวายในพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง หากจะตัดสินใจอะไรบางอย่างเขาก็จะต้องการข้อมูลที่ชัดเจนแจ่มชัดและเชื่อถือได้ประกอบการตัดสินใจ
คนทิศหมีเป็นคนเก็บตัว มีโลกส่วนตัว เก็บข้อมูลความรู้เยอะ มีเหตุมีผล มีหลักการ มีลำดับขั้นตอน มีกฎเกณฑ์ คิดวิเคราะห์ ตรวจสอบ เจ้าระเบียบ ลงรายละเอียด ไม่ยืดหยุ่น หนักแน่น เปลี่ยนยาก วางแผน ช้า รอบคอบ ต้องมีข้อตกลง
ความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน
สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากครูหยิกก็คือ…
เรื่องสัตว์ 4 ทิศ มักถูกสอนมาให้เราทำความเข้าใจคำอธิบายเหล่านี้ใน “ความหมายเชิงสังคม”
ซึ่งความหมายเชิงสังคม คือ ทุกคนควรต้องให้ความหมายและเข้าใจตามนี้เป็นแบบเดียวกัน
แต่การนำเรื่องนี้มาใช้หรือคำอธิบายนั้นแท้จริงแล้ว กำลังพูดถึง “สภาวะภายใน” ต่างหาก
ตัวอย่างเช่น
คำว่า “มีเป้าหมาย”
ตาม “ความหมายของสังคม” อาจจะเป็น “การรู้เป้าหมายชีวิตตัวเอง รู้ว่าชีวิตในฝันคืออะไร จะมีบ้านแบบไหน รถแบบไหน”
แต่ คำว่า “มีเป้าหมาย” ที่เป็น “สภาวะภายในของกระทิง” อาจจะเป็น “การลงมือทำอะไรก็ตาม มันจะต้องเห็นผล”
หรือคำว่า “ใจร้อน”
ความหมายเชิงสังคม อาจหมายถึงเป็นคนโกรธง่าย ขี้โมโห
แต่ “ใจร้อน” ในสภาวะภายใน อาจหมายถึง การอยากเห็นผลเร็ว ๆ รอช้าไม่ได้
ข้อสังเกตคือ การตีความผ่านความหมายเชิงสังคม จะมีการตีความที่ตายตัว คิดว่า คำ 1 คำ มีความหมายที่ชัดเจนตายตัว และเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในทิศนี้จะต้องเป็นแบบเดียวกัน
ซึ่งการตีความแบบนั้น อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสนในตัวเอง เพราะ “บางพฤติกรรมที่เหมือนกัน อาจมาจากสภาวะที่ต่างกัน”
ดูเหมือน แต่ไม่เหมือน
ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนก็คือ
“พฤติกรรมของการชอบทำสิ่งใหม่ ๆ”
เราพบว่าคนที่บอกว่าอยู่ในทิศกระทิง, อินทรี และหนู ก็มีพฤติกรรมการชอบทำสิ่งใหม่คล้าย ๆ กัน
แต่พอได้แลกเปลี่ยนกันกลับพบว่ามันมีความต่างที่ลึกซึ้งกว่านั้น
กระทิง
เป็นคนกล้าทำสิ่งใหม่ แต่การทำสิ่งใหม่นั้น เป็นไปเพื่อการได้มาซึ่งผลลัพธ์บางอย่าง และเมื่อเริ่มทำอะไรแล้ว ก็จะทำจนจบ
อินทรี
เป็นคนชอบลองสิ่งใหม่ ๆ คือ ชอบลองทำนู้น ทำนี่ เพราะรู้สึกสนุก รู้สึกว่าการเติมสิ่งใหม่ ๆ ทำให้ชีวิตมีทางเลือก ไม่ติดกรอบอยู่กับแค่ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง และเมื่อเริ่มทำอะไรแล้ว ถ้าไม่สนุกเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลง
ตรงนี้ผมสรุปความเข้าใจส่วนตัวว่า
กระทิง ทำเพื่อให้ได้ผล
ส่วนอินทรีย์ ทำเพื่อให้ได้ลิ้มรสประสบการณ์
ส่วนหนู
หนูก็จะมีบางช่วงที่ลองทำสิ่งใหม่ ๆ และพยายามหาทางเลือกเช่นกัน หากมองผิว ๆ ก็จะคล้ายกับอินทรีย์
แต่ที่จริงแล้ว หนูอาจจะกำลังทำสิ่งใหม่ เพื่อที่จะได้รับการยอมรับ เพื่อที่จะได้เข้าไปเปนส่วนหนึ่งของกลุ่มคนต่างหาก
ดังนั้น การศึกษาเรื่องนี้แบบไม่ลึกซึ้ง อาจทำให้เราทำความเข้าใจตัวเองหรือผู้อื่นผิดเพี้ยนไปก็เป็นได้
การตระหนักรู้ 2 ระดับ
ผมมีแนวคิดหนึ่งเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ในตัวเอง โดยแบ่งการตระหนักรู้ในตัวเองเป็น 2 ระดับ
1. ระดับยอดภูเขาน้ำแข็ง
คือรู้แค่ว่าเรามีพฤติกรรมอะไร แสดงออกอย่างไร ระดับนี้สังเกตได้ง่าย
2. ระดับใต้ภูเขาน้ำแข็ง
คือการรู้ถึงความคิด แรงขับเคลื่อน หรือแม้แต่สภาวะที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งการจะสังเกตในระดับนี้ ใช้แค่ความรู้มาจับไม่ได้ ต้องมีทักษะในการสังเกตตัวเองควบคู่ไปด้วย
ถ้าเราศึกษาเพียงระดับ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” การตีความของเราก็อาจจะผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้
รู้จักทิศ เพื่อหลุดจากทิศ
เบื้องต้นเราสามารถนำความรู้เรื่องสัตว์ 4 ทิศ 4 ธาตุนี้
มาเป็นหลักคิดในการสังเกตตัวเองก่อนได้ โดยพิจารณาว่าตัวเรามักจะมีพฤติกรรมอย่างไร เรามักแสดงออกแบบไหน
และเมื่อเราสังเกตตนเองได้มากขึ้นแล้ว ก็อย่าพึ่งฟันธงหรือปักใจเอาว่าเราเป็นคนทิศนั้น เพราะเราอาจกำลังถูกพฤติกรรมของเราหลอกอยู่ก็เป็นได้
ที่สำคัญคือ… เราไม่ควรนำกรอบนิยามของคนทิศต่าง ๆ ไปตีกรอบคนใกล้ตัวของเรา
ไม่ตัดสินว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบตายตัว แต่เปิดกว้างและเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจเขาในระดับที่ลึกซึ้งลงไป เพื่อที่เราจะได้เข้าใจเขา จากมุมมองที่สอดคล้องกับมุมมองที่เขากำลังใช้เพื่อมองโลกใบนี้อยู่
ในอดีต ผมคิดว่าสัตว์ 4 ทิศ เป็นแค่การเอาคำบางกลุ่มคำมากำหนดเพื่อบอกว่าคนเรามีลักษณะอย่างไรบ้าง
และมันเกือบทำให้ผมผลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปเลย
แท้จริงแล้ว การศึกษาศาสตร์นี้ไม่ใช่เพื่อเอามาเป็นกรอบที่บอกว่ามนุษย์คนใดคนหนึ่งมีคุณลักษณะอย่างไรและไม่มีคุณลักษณะอย่างไร
แต่เราศึกษาไปเพื่อที่จะตระหนักและรับรู้ถึงสถาวะภายในที่กำลังขับเคลื่อนให้เราหรือผู้อื่นทำอะไรบางอย่าง
ซึ่งเมื่อเราเกิดการตระหนักรู้เป็นอย่างดีแล้ว
เราจะสามารถเลือกใช้คุณสมบัติที่ดีของทิศใดก็ได้
โดยไม่จำกัดตัวเองว่า…
“ฉันคือคนทิศใด”
เอาไว้ครั้งหน้าหากมีคนสนใจอยากรู้จักตัวเองแบบลึกซึ้งขึ้นไปอีก
ผมคงได้มีโอกาสเอาประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแบ่งปันเพิ่มเติมครับ
ติดตามผมผ่านช่องทางอื่นได้
Facebook > Kitti Trirat
YouTube > Kitti Trirat
Podcast > Kitti Trirat
** หากต้องการรับแจ้งเตือนบทความใหม่ทาง email สามารถกรอกอีเมล์ในช่องลงทะเบียนด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ
Resource:
Photo by Helena Lopes on Unsplash
Photo by Hans Eiskonen on Unsplash
Photo by Joshua J. Cotten on Unsplash
Photo by vaun0815 on Unsplash
Photo by Thomas Bonometti on Unsplash
Photo by Annie Spratt on Unsplash
[…] บทความก่อนหน้านี้ เรื่องเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น ด้วย… […]