วิธีรับมือกับความกังวล
ถ้าใครเคยเจอผม จะคิดว่าผมดูเป็นคนผ่อนคลาย สบายใจ ใช้ชีวิตง่าย ๆ แต่ที่จริงข้างในหัวนี่เต็มไปด้วยความกังวลเลยขอบอก
ตัวอย่างนะ
เวลาใครพูดอะไรที่ดูจะเชื่อมกับเราสักนิด ก็วนกับความคิดแล้วว่า “เขากำลังพูดถึงเรา” (ทั้งที่เขาพูดถึงคนอื่น และต่อให้เขาอธิบายแล้วก็หยุดกังวลไม่ได้)
พอตอนงานรุ่ง เงินดี ก็กังวลว่าต่อไปจะมีแบบนี้อีกไหม ต้องทำยังไงให้มันอยู่เหมือนเดิม (ชีวิตดีก็เครียด คิดดู)
พอช่วงงานจาง ๆ ก็กังวลว่าจะทำอะไรดี ทีนี้แหละ! ฟังคนนู้นไปทั่ว หาของเรียนไปเรื่อย (ดูเหมือนจะดีนะ แต่ไม่ได้ช่วยอะไรจริง ๆ)
ลองมาหลายวิธีแล้ว แต่ก็ยิ่งหงุดหงิด
ก่อนหน้านี้ก็ใช้วิธีเท่าที่จะพอหาได้ เช่น นั่งสมาธิ ดีดหนังยางจนข้อมือแดง พูดสั่งตัวเองไปว่าฉันไม่ได้เป็นคนแบบนั้น ฯลฯ
ก็ดีขึ้นนะครับ แต่ดีเป็นพัก ๆ ความกังวลก็ยังคงแวะเวียนมาหาอยู่บ่อย ๆ และพอกังวลทีไรก็ยิ่งหงุดหงิดขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก
หงุดหงิดกับความกังวลที่เกิดขึ้นไม่พอ ต้องมาหงุดหงิดกับความรู้สึกไม่ดีที่มีความกังวลเกิดขึ้น แล้วก็หงุดหงิดที่ตัวเองทำไม่ได้
หงุดหงิด ซ้อน หงุดหงิด ซ้อน หงุดหงิด ซ้อน ๆๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ
พบเส้นทางใหม่
จนเมื่อ 8 ปีก่อนเห็นจะได้ ตอนนั้นสั่งเครื่องวัดคลื่นสมองชื่อ MUSE มาใช้ เพื่อวัดคลื่นเวลานั่งสมาธิ (ก็อยากให้มั่นนิ่งอ่ะเนาะ)
เจ้า Muse จะทำงานเชื่อมกับ App ในมือถือ และแสดงผลให้เห็นว่าคลื่นสมองของเราอยู่ในระดับที่สงบ ธรรมดา หรือตื่นตัว
เวลาเรานั่งสมาธิมันจะมีเสียงเป็นฟีดแบคให้เรารู้ว่าตอนนี้ความคิดของเราเป็นยังไงบ้าง ถ้านิ่งสงบ มันจะมีเสียงนกร้อง แต่ถ้าตื่นตัวมันจะมีเสียงสายฝน ถ้าทำงานแรงมากนี่คือฟ้าผ่าจร้า
และพอใช้ไปสักพัก ผมก็สังเกตเห็นความจริงที่น่าตกใจของความคิด!!
เนื่องจากความขี้กังวล หลายครั้งที่นั่ง เสียงที่ผมได้ยินมันจะเป็นเสียงฝนตกฟ้าร้อง มากกว่าเสียงนกจิ๊บ ๆ
พอได้ยินเสียงฝนตก และผมยิ่งเค้นให้ตัวเองหยุดคิดมากเท่าไหร่ ฟ้าก็ยิ่งร้องแรงขึ้นเท่านั้น
แต่พอผมเหนื่อยกับการพยายาม “เค้นให้หยุดคิด” ปล่อยให้ฝนมันตกปล่อยให้ฟ้ามันร้องไป แล้วก็นั่งฟังมันไปอย่างนั้น
อยู่ดี ๆ เสียงนก ก็เริ่มดังขึ้นมาแทนที!!
ต่อต้าน กับ รับรู้
อาการแบบนี้เกิดขึ้นจาก 1 วัน เป็น 2 วัน เป็น 1 สัปดาห์ และเห็นแบบดีเป็นเดือน ๆ
ระหว่างนั้นผมก็เอาข้อสังเกตนี้มาใช้กับความกังวลอื่น ๆ ในชีวิต
เวลากังวลเรื่องงาน แทนที่จะใส่ใจกับการบอกตัวเองไม่ให้กังวล ผมลองปรับมาเป็นแค่รับรู้ว่ากังวล อยู่กับมันสักพักแบบไม่ต้าน แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ
ผลก็คือ ความกังวล ส่งผลกระทบต่อชีวิตผมน้อยลง ทำให้โฟกัสสิ่งที่ต้องการทำได้มากขึ้น
และระยะเวลาที่จะวนอยู่กับความกังวล มันก็สั่นลงเรื่อย ๆ
แน่นอน… ความกังวลไม่เคยหายจากผมไปไหน มันยังแวะเวียนมาเสมอ แต่ผมแค่เลือกใช้วิธีในการรับมือกับเขาต่างออกไปจากเดิม
ถ้าจะสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็จะสรุปได้ว่า….
“ยิ่งต่อต้าน ยิ่งคิด
ยิ่งรับรู้ ยิ่งสงบ”
ผมใช้แนวทางนี้ และส่งต่อมันในคลาส Passionate Mind และทุก ๆ คลาสที่ผมสอนมาตลอด
ซึ่งก็ทำให้นักเรียนที่เปิดใจใช้แนวทางนี้ รับมือกับความกังวล และความคิดต่าง ๆ ได้ดีเหมือนกัน
พอไม่ต้องมากังวลกับการพยายาม “ต้านความกังวล” พวกเขาก็มีเวลาไป “ใส่ใจกับความคิดที่ทำให้เติบโต” ได้มากขึ้น
พิจารณาคู่กับธรรมะ
และพอได้ศึกษาวิชาทางธรรมเสริมเข้าไปด้วย ก็ยิ่งพบว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และมีพลังมากกว่าที่ผมเคยคิดด้วย
การได้เรียนเพิ่มกับครูเงาะ และพระอาจารย์ต้น และครูอาจารย์สายธรรมท่านอื่น ๆ ที่มุ่งไปสู่ความดับทุกข์
ท่านต่างพูดถึงการรับมือกับความคิดว่า เราต้องไม่กดข่ม แต่เพียงแค่เห็นและรับรู้มันตามความจริงเท่านั้น
โดยเฉพาะแนวทางของพระอาจารย์ต้น ที่สามารถใช้อารมณ์เหล่านี้ มาช่วยให้เราศึกษาธรรม และเข้าใจอริยสัจ 4 ได้เข้าไปอีก
การจับความกังวล เข้าไปพิจารณาอริยสัจ 4 ก็คือ
1. ทุกข์
เมื่อเห็นความกังวล ก็รู้ว่าความกังวลนั้นเป็นทุกข์ เมื่อมีเหตุที่คาดเดาไม่ได้เกิดขึ้น ความกังวลมันก็จะเกิดตามธรรมชาติ
2. เหตุแห่งทุกข์
แล้วความกังวลเกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ?
มันก็เกิดจาก “ความอยาก” ที่จะทำสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ถูกจัดการได้ดั่งใจคิด
“ความอยาก” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ระดับของความกังวลจะเกิดขึ้นมาก ๆ เมื่อเราพยายาม “เร่ง” ให้ความอยากนี้เป็นจริง
3. การดับไปของทุกข์
และไม่ว่าเราจะอยากแค่ไหนก็ตาม ความกังวลที่เป็นทุกข์นี้ มันก็จะดับหายไป
ต่อให้กังวลมากแค่ไหน มันก็ไม่ได้วนอยู่ในหัวเราได้ทุกวินาทีหรอก
มันจะหายไปในบางจังหวะเสมอ และช่วงที่มันหายไป นั่นคือช่วงที่ “ทุกข์ได้ดับลงไปแล้ว”
4. แนวทางแห่งการพ้นทุกข์
นั่นก็คือ การพิจารณาความกังวลที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมชาติ เห็นความอยากที่จะเกิดขึ้นมาในตอนนั้น และรับรู้มันแล้วเห็นจนมันดับไป
การพิจารณาความจริงตามธรรมชาติเหล่านี้ ก็จะเป็นการ “เสริมปัญญาให้จิต”
เมื่อจิตมีปัญญาเหล่านี้เข้มแข็ง มันจะสามารถรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องต่อต้านอะไรอีกต่อไป
ใช้หลักพฤติกรรมศาสตร์ช่วย
เรื่องนี้เล่าให้ฟังอาจดูง่ายครับ แต่การฝึกระหว่างทางนั้น เรียกได้ว่า “ท้าทาย” เลยทีเดียว
ยิ่งหากเราเคย “ปฏิเสธ” ความคิดเหล่านี้มาตลอด อยู่ดี ๆ จะให้เปลี่ยนมาเป็น “รับรู้” มันไม่ใช่จะทำได้ทันที
แต่ถ้าคุณเห็นประโยชน์และอยากฝึก
ผมขอยกทฤษฎีการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เรามีกำลังใจทำกันนะครับ
สูตรคือ IM = A+C+R
IM = Intrinsic Motivation (แรงจูงใจจากภายใน)
A = Autonomy (มีสิทธิ์ในการเลือก)
C = Competence (มีความสามารถ)
R = Relatedness (ได้ทำกับคนที่ชอบ)
แปลงมาเป็นวิธีการลงมือทำแบบนี้ครับ
1. เลือกฝึกกับเรื่องที่เราอยากฝึก อยากลองกับความกังวลเรื่องอะไร ให้เลือกเรื่องนั้น ส่วนเรื่องที่ไม่ได้เลือกตอนนี้ จะกังวลบ้าง ก็ช่างมัน
เลือกฝึกกับ “สักเรื่อง ไม่ใช่ทุกเรื่อง”
2. ฝึก “รับรู้” จากเรื่องที่กังวลไม่เยอะก่อน เริ่มจากปัญหาเล็ก ๆ เรื่องเล็ก ๆ พอทำได้จะมีกำลังใจ และอยากทำต่อ
ถ้าเริ่มจากโจทย์ยากเลย… แค่คิดจะทำก็ท้อ จนอยากเลิกแล้ว
3. ชวนเพื่อนมาฝึกร่วมกัน หรือพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราฝึกเรื่องนี้ได้
ถ้าหาเพื่อนไม่ได้ ก็ใช้การพาตัวเองเข้าคลาสเรียน หรือไปศึกษาธรรม ก็เป็นอีกทางที่เราจะได้เจอเพื่อนที่ฝึกร่วมกันไปกับเราด้วย
เติบโตไปด้วยกัน
เป็นกำลังใจในการรับมือกับความกังวลที่เกิดขึ้น
ผมเข้าใจว่ามันไม่ได้ง่าย มันอึดอึด และเราก็ไม่ได้อยากยอมรับสิ่งนี้
แต่ถ้าหากว่าเคยพยายาม “ปฏิเสธมาหลายทางแล้วมันไม่ดีขึ้น”
ลองหันมาเป็น “รับรู้ตามจริงโดยไม่ปฏิเสธบ้างจะเป็นไรไป”
เป็นกำลังใจในการฝึกนะครับ 😊