4 องค์ประกอบพื้นฐาน เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ประมาณช่วงปี 2559 อยู่ ๆ ผมก็มีความรู้สึกว่าอยากจะกลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างบอกไม่ถูก อยากไปทะเล ภูเขา อยากอยู่ท่ามกลางป่าไม้ที่ร่มรื่น
ไม่ว่าเชื่อว่าความต้องการนั้น ทำให้ผมได้มีโอกาสตกผลึกถึง 4 องค์ประกอบพื้นฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในภายหลัง
ทั้งที่ไม่เคยสนใจเรื่องเกษตรแบบพอเพียงเลย
แต่อยู่ดี ๆ Facebook ก็โชว์คอร์สที่ชื่อว่า “ยักษ์จับมือโจน ธรรมธุรกิจ” จากเพจ ธรรมธุรกิจ ขึ้นมา
ตอนนั้นผมตัดสินใจให้ของขวัญวันเกิดตัวเองด้วยการสมัครเรียนคอร์สแบบ งง ๆ
ไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรรออยู่บ้าง รู้เพียงว่าคงได้กลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น
แต่การเรียนที่มาบเอื้อง นอกจากจะทำให้ผมได้อยู่ใกล้ธรรมชาติตามตั้งใจแล้ว ผมยังได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จากประสบการณ์ของ อาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร อีกด้วย
ผมได้ฟังเรื่องราวการก่อร่างของ พื้นที่มาบเอื้อง
ตั้งแต่การปรับดิน จากดินที่แข็งจอบขุดไม่เข้า การบริหารเรื่องน้ำ ให้สามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่โดยรอบ การปลูกป่าเพื่อให้ไม้แต่ละชนิดดูแลกันและกัน การวางแผนเพื่อดูทิศทางลมเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้มาบเอื้องนี้
และในขณะที่กำลังทำกิจกรรมเดินชมสถานที่อยู่ ผมก็เห็นการเชื่อมเรื่องราวการดูแลสถานที่นี้ เข้ากับเรื่องการดูแลตัวเอง
ถ้า ดิน เปรียบเหมือน สุขภาพร่างกาย ล่ะ?
หาก น้ำ เปรียบเหมือน ทรัพย์สินที่หล่อเลี้ยงชีวิต – เช่นเงิน อาหาร ฯลฯ ล่ะ?
แล้วถ้า ต้นไม้ เปรียบเหมือน การมีร่มเงาของกัลยาณมิตรหรือครอบครัว ล่ะ?
สุดท้ายหาก อากาศ เปรียบเหมือน สถาวะความสุขสงบร่มเย็นของใจ ล่ะ?
ทั้ง 4 ด้านนี้ อาจเป็นพื้นฐานที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (Live Well) ได้เช่นกัน
เรื่องของดิน
ที่มาบเอื้อง อ.ยักษ์เล่าว่าขั้นแรกคือการเปลี่ยนดินให้ดี พร้อมสำหรับการเพาะปลูกก่อน อาจารย์เปลี่ยนจากดินที่แข็งจนจอบขุดไม่เข้า ให้กลายเป็นดินคุณภาพผ่านการห่มดิน และเทคนิคต่าง ๆ เป็นพื้นฐานก่อน
หากมันเปรียบเป็นด้านร่างกาย
ก่อนที่จะทำอะไรต่อไป เราเองก็ต้องเตรียมสภาพร่างกายของเราให้พร้อมสำหรับการเติบโตในมิติต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน หากร่างกายไม่พร้อมเสียแล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็คงไปต่อได้ยาก
พิจารณาว่าสุขภาพร่างกายที่พอเหมาะพอดีสำหรับเราคืออะไร รูปร่างเป็นแบบไหน น้ำหนักเท่าไหร่
เรื่องน้ำ
ที่มาบเอื้อง อ.ยักษ์บอกว่าจะต้องมีการบริหารน้ำ สร้างบ่อเก็บน้ำที่จุน้ำ เพียงพอต่อพื้นที่ แบบว่าถ้าฝนไม่ตกก็อยู่ได้ไปอีกหลายปี และมีการขุดคลองไส้ไก่เพื่อให้ความชุ่มชื่นไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
หากเปรียบได้กับทรัพย์สินที่หล่อเลี้ยง
เราก็อาจต้องมาบริหารทรัพย์สินที่หล่อเลี้ยงเราให้พร้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งทรัพย์สินนึงที่เราส่วนใหญ่ต้องใช้นั่นก็คือเงิน หรือหากคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อของก็ต้องเป็นเรื่องของอาหาร
เพื่อที่จะเลี้ยงดูชีวิตเราต้องการอะไรบ้าง? ต้องพิจารณาว่าเราต้องมีเงินเท่าไหร่ หรือเราปลูกอาหารไว้กินเองได้ไหม?
เรื่องต้นไม้
ที่มาบเอื้อง – อ.ยักษ์ สอนถึงการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกต้นไม้ที่มีความสูงต่ำแตกต่างกัน และให้ไม้เหล่านั้นช่วยดูแลกันและกัน ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช
หากเปรียบได้กับการมีกัลยาณมิตร
การมีมิตรที่พร้อมเกื้อหนุนดูแลกัน ก็จะสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าให้กับทุกคนได้ในหลายมิติ เพื่อนที่ดีจะทำให้เราประคับประคองกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง
และการมีกัลยาณมิตรจากหลากหลายอาชีพ ก็ทำให้เราสามารถเกื้อกูลกันและกันได้
เรื่องอากาศ
ที่มาบเอื้อง – อ.ยักษ์ เล่าว่ามีการวางแผนเรื่องการถ่ายเทของอากาศด้วย คือรู้ว่าฤดูไหนลมมาทางไหน ดังนั้นจึงมีการจัดวางโครงการการหันหน้าอาคาร การวางต้นไม้ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้อากาศดีมาก ไม่ร้อน ไม่หนาวจนเกินไป
หากเปรียบได้ดัง สภาวะสุขสงบร่มเย็นของใจ
การมีสุขภาพใจที่ดี การดูแลอารมณ์ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองได้ ชีวิตเราก็จะเป็นสุขได้ไม่น้อยเลย
ไม่มีสูตรตายตัว
อาจารย์ยักษ์ไม่ได้บอกสูตรสำเร็จว่าจะต้องเก็บน้ำกี่ลิตร ปลูกไม้กี่ต้น และปลูกอะไรบ้าง
แต่อาจารย์มอบหลักคิดในการคำนวนเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละคน
พื้นที่กว้างก็ต้องคำนวณเรื่องการเก็บสะสมน้ำกว้างหน่อย
ชีวิตเราก็เช่นกัน
การดูแลทั้ง 4 มิติของชีวิต ทั้งร่างกาย, ทรัพย์สินหล่อเลี้ยง, กัลยาณมิตร, สถาวะใจ ก็ไม่มีสูตรสำเร็จ
เราต้องพิจารณาละทบทวนด้วยตัวเองว่า…
ร่างกายที่ดีของเราที่เราพอใจคือแบบไหน?
ต้องมี Six Pack ไหม? หรือ แค่กระชับสบาย ๆ?
ทรัพย์สินที่เหมาะสมของเราต้องมีเท่าไหร่?
เงินที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีพของเราคือเท่าไหร่?
เราต้องมีเงินสะสมเงินออมมากขนาดไหน?
ทรัพย์สินที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราคืออะไร?
กัลยาณมิตรที่ดีของเราคือใคร?
เพื่อนแบบไหนที่เราเลือกคบ?
อะไรที่เราสามารถแบ่งปันและสร้างคุณค่าให้กับกัลยาณมิตรของเราได้?
เราต้องมีสภาวะจิตใจที่เป็นอย่างไรบ้าง?
เราจะทำจิตใจให้สงบได้อย่างไร?
เราจะบริหารความคิดและความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง?
ออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง
เราอาจต้องตั้งคำถามดี ๆ เพื่อให้เราได้กลับมาทบทวนต่อชีวิต 4 ด้านนี้ของตัวเอง
เพื่อให้เราพบจุดสมดุลของคำว่า “คุณภาพชีวิตที่ดี” ในแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชีวิตของเรา
หากคุณเห็นด้วยว่า 4 ด้านที่ผมยกมา สามารถเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ก็สามารถนำไปทบทวนเพื่อออกแบบชีวิตที่ดีของตัวเองได้นะครับ
เป็นกำลังใจ สำหรับการออกแบบคุณภาพชีวิตที่ดีและเหมาะสมในแบบของคุณครับ
ติดตามผมผ่านช่องทางอื่นได้
Facebook > Kitti Trirat
YouTube > Kitti Trirat
Podcast > Kitti Trirat
** หากต้องการรับแจ้งเตือนบทความใหม่ทาง email สามารถกรอกอีเมล์ในช่องลงทะเบียนด้านล่างสุดของบทความนี้นะครับ
Resource:
Photo by Laurencia Soesanto on Unsplash
Photo by Markus Spiske on Unsplash
Photo by Anastasia Taioglou on Unsplash
Photo by Marita Kavelashvili on Unsplash
Photo by Frank Vessia on Unsplash