เราควรรับมือกับความคิดลบอย่างไรดี
“อย่าเขียนเลย มันดูไม่ดี” กับ “ทำไปเลย นี่คือตัวอย่างที่ดีที่สุด”
คือเสียงที่กำลังสู้กันอย่างดุเดือด ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนทบทวนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการสอนของผม
ด้วยความที่ตั้งใจและมีความคาดหวังในการทำคอร์สว่าจะต้องทำให้ได้ดี ผมจึงทำการบ้านในการหาทฤษฎีต่าง ๆ มาอธิบายในการสอนของผม
และนั่นเป็นที่มาของปัญหาที่ทำให้ผมรู้สึกแย่มาก
พังตั้งแต่ 30 นาทีแรก!
ทั้งที่คิดว่าเตรียมตัวมาดีแล้ว แต่เมื่อมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีดังกล่าว
ผมกลับ “ตอบได้ไม่ชัดเจนเลย”
หลังจากนั้น ผมก็เหมือนอยู่กลางสนามรบ ที่ไม่รู้ว่าจะถูกสอยร่วงเมื่อไหร่
มันทำให้เกิดความลังเลสงสัย เสียงวิจารณ์ตัวเองในหัวทำงานหนักมาก
ผมวิจารณ์ตัวเองว่าทำได้ไม่ดี ตำหนิว่าตัวเองเป็นคนหลอกลวง กลัวคิดว่าคนเรียนจะไม่เข้าใจและไม่ได้รับสิ่งที่มีคุณค่าแท้จริง
ความคิดนี้เล่นงานผมตั้งแต่ 30 นาทีแรก และคงอยู่แบบนี้ไปอีก 1 ชั่วโมงกว่า ๆ
เบื้องหน้ารอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการพยายามพูดอย่างมั่นใจนั้น ภายในมีแต่ความปั่นป่วนและความค้างคาใจ สงสัยในตัวเอง
มันทำให้ช่วงเวลาต่อจากนั้น ผมรู้สึกว่าผมถ่ายทอดได้ไม่ดีเลย
คำพูดที่เคยไหลลื่นคล่องปาก กลายเป็นความขัดสน
สิ่งที่เคยพูดอย่างมั่นใจกลายเป็นความลังเลไม่แน่ใจ
หลังจากสอนเสร็จ ผมก็สะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ให้กับเพื่อนสนิทฟังว่า “รู้สึกว่าพลังงานไม่ดีเลย”
จนเพื่อน ต้องชวนให้ผมได้สะท้อนความคิดของตัวเองว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกนั้น
การสนทนา
นี่คือบทสนทนาบ้างส่วน…
ผม: กลัวคนฟังไม่โอเค… ไม่น่าหยิบทฤษฎีมาพูดเลย
เพื่อน: แล้วตอนนี้รู้สึกยังไงบ้าง?
ผม: (ผมหยุดเพื่อใคร่ครวญกับตัวเองครู่ใหญ่ ๆ) สนุก! อยากเอาไปเขียนบทความ แต่ก็กังวลว่าเขียนแล้วจะดูดีไหม
เพื่อน: แล้วมันส่งผลยังไงกับเธอ ความดูดีหรือไม่ดี?
ผม: ถ้าดูไม่ดี เขาอาจจะไม่ศรัทธาฉัน
เพื่อน: ความศรัทธาในตัวเธอมาจากอะไรได้บ้าง?
ผม: ฉันมอบคุณค่าให้กับพวกเขาได้ คือคิดว่าถ้าทำให้เขา Get และได้ประโยชน์ ถ้าอธิบายให้เขาเข้าใจไม่ได้ เขาก็จะไม่ได้ประโยชน์
เพื่อน: ตอนนี้เธอให้ตัวเองกี่คะแนน ในการสอนเมื่อกี๊
ผม: 7
เพื่อน: 7 นี่เธอให้เขา หรือเธอคิดว่าเขาได้อะไรจากเธอบ้าง?
ผม: เขาก็ได้ฝึกสำรวจตัวเองนะ ได้รู้เรื่องทฤษฎีการรู้จักตัวเอง อธิบายเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ตัวเองด้วย
เพื่อน: สิ่งเหล่านี้ เธอมองว่า เขาได้คุณค่าอะไรบ้าง?
ผม: เขาก็ได้เห็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นเนาะ
เพื่อน: เธอเชื่อไหมว่า พวกเขาทุกคนได้อะไรไปบางอย่างในวันนี้
ผม: ได้ดิ เพราะคนที่ไม่รู้จักทฤษฎีนี้เลยก็มีหลายคน เขาก็น่าจะได้นะ
เพื่อน: แล้วเขายังศรัทธาในเธอไหม?
ผม: ก็น่าจะนะ
เพื่อน: อยากทำอะไรในครั้งหน้า เพื่อให้ตัวเองมั่นใจมากขึ้นก่อนสอนบ้าง
ผม: เตรียมเนื้อหาที่คมขึ้น ไม่อธิบายสิ่งที่หยิบทฤษฎีมาเฉย ๆ เอาสิ่งที่ฉันอินมากจริง
เพื่อน: จุดแข็งของเธอคืออะไร?
ผม: ก็พลิกสถานการณ์ได้เร็ว ปรับตัวได้ดี
เพื่อน: ตอนนี้เป็นไงบ้าง ยังมีอะไรค้างคาเรื่องที่สอนอยู่ไหม
ผม: ไม่มีแล้ว ขอบใจมากเธอ
หลังจากได้ทำงานกับความคิดความรู้สึกตัวเองแล้ว ผมก็กลับมาโฟกัสทำงานที่ผมทำได้ต่อ
นี่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อก่อนตอนที่ผมยังไม่สามารถมองเห็นความคิดและความรู้สึกของตัวเองได้ขนาดนี้ เวลาที่ผมทำพลาด หรือทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ ผมจะรู้สึกแย่และด่าตัวเองซ้ำ ๆ อยู่อีกเป็นสัปดาห์ทีเดียว
ควรทำยังไงกับความคิดลบ
เมื่อก่อนผมเคยเชื่อว่า…
“ควรกำจัดความเปราะบาง ความคิดลบ และรีบออกห่างจากมันให้เร็วที่สุด”
แต่ยิ่งพยายามกำจัดมากเท่าไหร่ มันยิ่งเล่นงานผมกลับมามากเท่านั้น
ส่วนตอนนี้ผมเลือกเชื่อว่า…
“การที่รู้จักโอบรับความเปราะบาง การได้ยินเสียงความคิดลบ มันคือสัญญาณที่กำลังพาผมกลับเข้ามาเข้าใจชีวิต และเติบโตอย่างถูกทางได้มากยิ่งขึ้น”
เมื่อฟังให้ได้ยินเสียงของเขาอย่างชัดเจน ก็จะได้พบว่า..
ความคิดลบบางอย่างอาจเกิดขึ้นจาก ความเชื่อที่อยากสร้างคุณงามความดีให้ผู้อื่น
และที่ดีไปกว่านั้น เมื่อได้รู้จักความคิดนั้นอย่างลึกซึ้ง ก็อาจพบว่าเขาเกิดขึ้นเพียงเพื่อพาให้เราเติบโตอยู่นั่นเอง
ถอดหน้ากาก
อย่างน้อย ๆ การคิดลบและการตำหนิตัวเองที่เกิดขึ้นในการสอนครั้งนี้
ผสานกับ “การตระหนักรู้” และ “เปิดรับ” เสียงนั้นอย่างตรงไปตรงมา
ก็ได้ทำให้เกิดบทสนทนาที่มีประโยชน์ ระหว่างผมและเพื่อน
ซึ่งนำพาผมให้ “เป็นอิสระจากหน้ากากแห่งความสมบูรณ์แบบ”
และกลายร่าง “เป็นต้นแบบของคนที่กำลังทำในสิ่งที่พูด”
จนทำให้คุณได้อ่านบทความที่ตรงไปตรงมานี้!
และสำหรับผู้ที่เรียนกับผม แม้ตอนที่สอน ผมอาจจะพูดได้ไม่สมบูรณ์อย่างที่ต้องการมากนัก
แต่เชื่อว่าการแบ่งปันผ่านบทความนี้ จะเป็นตัวอย่างของ “การตระหนักรู้ในตัวเอง” ให้พวกเขาได้เช่นกัน
เปิดขุมทรัพย์
ขุมทรัพย์ของการเรียนรู้และเติบโต อาจจะซ่อนอยู่ในมุมมืดที่เราพยายามกำจัดมันออกไปจากชีวิต
เมื่อเกิดความคิดลบเกิดขึ้น ลองรับฟังเขา และเรียนรู้จากเขาดูสักหน่อยสิครับ
และหากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ตอนนี้คุณคงรู้แล้วนะ
ว่าเสียงที่สู้กันระหว่าง “อย่าเขียนเลย มันดูไม่ดี”
กับ “ทำไปเลย นี่คือตัวอย่างที่ดีที่สุด”
เสียงไหนเป็นผู้ชนะ!
Photo by Jeremy Perkins on Unsplash